tr?id=1543387775907290&ev=PageView&noscript=1

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น

  • icn_TW.png
  • icn_Gp.png

ประเทศญี่ปุ่น เป็นอย่างไร

ชื่อประเทศ

ในภาษาญี่ปุ่น ชื่อประเทศญี่ปุ่นจะอ่านออกเสียงว่า "นิฮอน" หรือ "นิปปอน" โดยปกติเมื่อพูดถึงเมืองหลวงจะหมายถึง โตเกียว (แต่ไม่มีการกำหนดตามกฎหมายแต่อย่างใด)

ธงชาติ

ตามกฎหมายระบุให้เรียกธงชาติว่า "นิชโชคิ" แต่ปัจจุบันจะเรียกว่า "ฮิโนะมารุ" กันอย่างแพร่หลาย

ดอกไม้ประจำชาติ นกประจำชาติ

ไม่มีกำหนดตามกฎหมาย แต่ "ดอกซากุระและดอกเบญจมาศ" ถูกจัดให้เป็นดอกไม้ประจำชาติ และนกประจำชาติเป็น "ไก่ฟ้าญี่ปุ่น"

จังหวัด

ประเทศญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 8 ภูมิภาค มีทั้งหมด 47 จังหวัด โดยเรียกแบ่งเป็น 1 โด, 1 โตะ, 2 ฟุ, และ 43 เค็น
"โด" ได้แก่ ฮอกไกโด, "โตะ" ได้แก่ โตเกียวโตะ, "ฟุ" ได้แก่ เกียวโตฟุ และโอซาก้าฟุ, ส่วนจังหวัดที่เหลือจะเรียกว่า "เค็น"

ภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศ

ประเทศญี่ปุ่นมีภูมิอากาศที่หลากหลาย ตั้งแต่อากาศแบบกึ่งร้อนถึงหนาว เนื่องจากอิทธิพลของลมตามฤดูกาลและกระแสน้ำในมหาสมุทร โดยส่วนมากอากาศจะอบอุ่น ง่ายต่อการอยู่อาศัย และฤดูจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัดระหว่าง ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว

เชื้อชาติ

98.5% เป็นชนชาติญี่ปุ่น โดยถือว่าทุกคนที่มีสัญชาติญี่ปุ่น เป็นชนชาติญี่ปุ่น

ประวัติศาสตร์

 

ยุคโบราณ (จนถึงปลายศตวรรษที่ 6)
ตั้งแต่ยุคที่มนุษย์ออกล่าสัตว์และเก็บผักผลไม้จนมาถึงยุคที่เพาะปลูกกันเอง จนได้มีการรวมอำนาจปกครองและตั้งขึ้นเป็นราชสำนักยามาโตะ ซึ่งราชสำนักยามาโตะนี้ได้สร้างสุสานขึ้นจำนวนมาก
ยุคขุนนาง (ปลายศตวรรษที่ 6 - ปลายศตวรรษที่ 12)
เป็นยุคที่มีขุนนางเป็นศูนย์กลางโดยเฉพาะตระกูลฟูจิวาระ พระพุทธศาสนาได้เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นของยุคนี้
ยุคซามุไร (ปลายศตวรรษที่ 12 - ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19)
ตั้งแต่ มินาโมโตะโนะ โยริโทโมะ ได้สถาปนาการปกครองระบบโชกุนเป็นรัฐบาลคามาคุระ ประเทศญี่ปุ่นก็กลายเป็นยุคของซามุไร จากนั้นยุคที่มีซามุไรเป็นศูนย์กลางได้ถูกสานต่อโดยรัฐบาลมุโรมาจินำโดย อาชิคากะ ทาคาอุจิ, และรัฐบาลเอโดะนำโดย โทคุกาวะ  อิเอยาสุ
ยุคสมัยใหม่ (ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา)
ตั้งแต่เริ่มเป็นรัฐบาลเมจิ ประเทศญี่ปุ่นก็ได้มาถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่

การเมือง

ประเทศญี่ปุ่นมักจะถูกจัดว่าเป็นการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ตำแหน่งจักรพรรดิเป็นในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีสิทธิในการบริหารประเทศแต่อย่างใด

การศึกษา

ประเทศญี่ปุ่นแบ่งระดับชั้นการศึกษาเป็นประถมศึกษา 6 ปี, มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี, มัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และมหาวิทยาลัย 4 ปี โดยมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ระหว่างอายุ 6 - 15 ปี 

ศาสนา

คนญี่ปุ่นส่วนมากจะนับถือศาสนาพุทธและศาสนาชินโตซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่ก็มีที่นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ ด้วย

วันหยุดของประเทศญี่ปุ่น

ประเภทวันหยุด

  • วันปีใหม่
    • 1 มกราคม
    • วันฉลองปีใหม่
  • วันบรรลุนิติภาวะ
    • (วันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม)
    • วันฉลองการได้เป็นผู้ใหญ่
  • วันสถาปนาประเทศญี่ปุ่น
    • 11 กุมภาพันธ์
    • วันระลึกถึงความสำคัญของการรักชาติ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรก 
  • วันฤดูใบไม้ผลิ
    • วันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 19 - 22 มีนาคม
    • วันเริ่มฤดูใบไม้ผลิ
  • วันโชวะ
    • 29 เมษายน
    • กำหนดให้ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ เพื่อให้ไม่ลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยโชวะ
  • วันรัฐธรรมนูญ
    • 3 พฤษภาคม
    • วันที่มีการบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
  • วันสีเขียว
    • 4 พฤษภาคม
    • วันขอบคุณธรรมชาติ
  • วันเด็ก
    • 5 พฤษภาคม
    • วันขอพรให้เด็กผู้ชายมีเจริญเติบโตและมีความสุข
  • วันแห่งทะเล
    • (วันจันทร์ที่สามของเดือนกรกฎาคม)
    • วันขอบคุณทะเล
  • วันแห่งภูเขา
    • 11 สิงหาคม
    • วันขอบคุณภูเขา
  • วันผู้สูงอายุ
    • (วันจันทร์ที่สามของเดือนกันยายน)
    • วันฉลองสุขภาพและความสุขของผู้สูงอายุ
  • วันฤดูใบไม้ร่วง
    • วันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 22 - 24 กันยายน
    • วันเริ่มฤดูใบไม้ร่วง
  • วันกีฬาและสุขภาพ
    • (วันจันทร์ที่สองของเดือนตุลาคม)
    • วันพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิก เพื่อส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ
  • วันวัฒนธรรม
    • 3 พฤศจิกายน
    • เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ เพื่อให้รักในวัฒนธรรมและเสริมสร้างจิตใจอันสมบูรณ์
  • วันขอบคุณแรงงาน
    • 23 พฤศจิกายน
    • วันขอบคุณผู้คนที่ทำงาน
  • วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระจักรพรรดิ
    • 23 ธันวาคม
    • ฉลองเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิ
       

คำแนะนำ

ร้านค้าส่วนมากจะปิดในช่วงสิ้นปีและช่วงขึ้นปีใหม่ นอกจากนั้น ในช่วงหยุดยาวปลายเมษายนถึงต้นพฤษภาคม (โกลเด้นวีค) จะมีผู้ใช้บริการรถไฟจำนวนมาก และบนท้องถนนก็จะพบการจราจรที่ติดขัดเช่นกัน

เมื่ออยู่ญี่ปุ่น

เวลาทำการ

โดยปกติธนาคารและสถานที่ราชการจะปิดในวันเสาร์อาทิตย์ ธนาคารจะเปิดระหว่าง 09:00 - 15:00 น., ร้านค้าทั่วไปจะเปิดประมาณ 10:00 - 19:00 น. และในชนบทส่วนมากจะปิดประมาณ 17:00 หรือ 18:00 น.

ภาษา

ภาษาราชการคือ ภาษาญี่ปุ่น และนอกจากภาษากลางก็ยังมีภาษาท้องถิ่น*

*ภาษาพูดจะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค เรียกว่า ภาษาท้องถิ่น ซึ่งจะแตกต่างจากภาษากลาง โดยมีลักษณะพิเศษที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณของท้องถิ่นนั้นๆ 

ความต่างของเวลา

เวลาในประเทศญี่ปุ่นต่างจากเวลาในแต่ละประเทศดังนี้

  • อินโดนีเซีย ±0 ถึง -2 ชั่วโมง
  • ไต้หวัน -1 ชั่วโมง
  • ฮ่องกง -1 ชั่วโมง
  • มาเลเซีย -1 ชั่วโมง
  • เกาหลีใต้ ±0 ชั่วโมง
  • สิงคโปร์ -1 ชั่วโมง
  • ไทย -2 ชั่วโมง
  • จีน -1 ชั่วโมง
  • ออสเตรเลีย +1 ถึง -1 ชั่วโมง [+2 ถึง -1 ชั่วโมง]
  • อเมริกา -14 ถึง -19 ชั่วโมง [-13 ถึง -19 ชั่วโมง]
  • แคนาดา -12 ชั่วโมง 30 นาที ถึง -17 ชั่วโมง [-14 ถึง -16 ชั่วโมง]
  • ฮาวาย -19 ชั่วโมง
  • ฝรั่งเศส -8 ชั่วโมง [-7 ชั่วโมง]
  • อิตาลี -8 ชั่วโมง [-7 ชั่วโมง]
  • เยอรมนี -8 ชั่วโมง [-7 ชั่วโมง]

เงิน

ประเทศญี่ปุ่นใช้เงินสกุลเยน (¥) มีธนบัตร 4 ชนิด ได้แก่ 10,000 เยน/ 5,000 เยน/ 2,000 เยน/ และ 1,000 เยน และมีเหรียญ 6 ชนิด ได้แก่ 1 เยน/ 5 เยน/ 10 เยน/ 50 เยน/ 100 เยน/ และ 500 เยน แต่ต้องระวังการใช้ธนบัตร 2,000 เยนเนื่องจากจะใช้ไม่ได้กับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติส่วนมาก

น้ำดื่ม

โดยปกติน้ำประปาของญี่ปุ่นสามารถดื่มได้เลยโดยไม่ต้องต้มหรือกรอง แต่ในบางพื้นที่ เช่น ในภูเขาลึกอาจใช้น้ำจากบ่อซึ่งดื่มไม่ได้ หากไม่สะดวกใจที่จะดื่มน้ำประปา สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์น้ำดื่มที่มีให้เลือกหลากหลายชนิด เช่น น้ำแร่, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์, ฯลฯ ได้จากร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา, เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นต้น

วิธีใช้เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ

ในเมืองจะพบตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติให้สามารถซื้อได้ทันทีที่ต้องการ โดยมีทั้งเครื่องดื่มร้อนและเย็น ซึ่งโดยทั่วไปสินค้าในตู้จะมีราคาจำหน่ายดังนี้ น้ำผลไม้ขนาด 350 มล. หรือแบบกระป๋อง 300 มล. ราคา 130 เยน, น้ำขวด 500 มล. ราคา 161 เยน

บุหรี่

กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดว่าผู้ที่จะซื้อบุหรี่หรือสุราได้ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไปเท่านั้น โดยสามารถซื้อจากร้านสะดวกซื้อ หรือร้านบุหรี่ ส่วนเครื่องจำหน่ายบุหรี่อัตโนมัติตามทาง หากไม่มีบัตร "taspo" (บัตรลงทะเบียนสำหรับซื้อบุหรี่) จะไม่สามารถซื้อได้ และพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ในที่สาธารณะมีน้อย ในร้านอาหารส่วนมากจะแยกโซนสำหรับสูบบุหรี่ หรือห้ามสูบ กรณีที่เข้าร้านที่แยกโซนสำหรับสูบบุหรี่ กรุณาเลือกที่นั่งแบบสูบบุหรี่ หรือไม่สูบบุหรี่ขณะเข้าร้าน การเดินสูบบุหรี่ และสูบนอกพื้นที่ที่กำหนดถือเป็นการทำผิดกฎหมาย

สุรา และเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์

ไม่มีกฎหมายลงโทษเกี่ยวกับการดื่มสุราและเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ จะเห็นว่าคนญี่ปุ่นดื่มสุราในที่กลางแจ้งระหว่างชมซากุระในฤดูใบไม้ผลิ หรือ ถือสุราและเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์อยู่ในมือขณะร่วมเทศกาลต่าง ๆ แต่ห้ามดื่มแล้วขับรถยนต์, รถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยานเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และคนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการรินสุราให้ผู้อื่นอีกด้วย

ไฟฟ้า

ญี่ปุ่นฝั่งตะวันออกใช้ไฟความถี่ 50Hz ส่วนฝั่งตะวันตกใช้ 60Hz ด้วยกระแสไฟ 100V เหมือนกัน นักท่องเที่ยวจึงควรใช้เครื่องแปลงที่รองรับไฟ 100V ส่วนช่องเสียบปลั๊กจะเป็นแบบ A ประเภทเดียวทั้งประเทศ แนะนำให้นำหัวแปลงปลั๊กเป็นแบบ A มาด้วย หรือสามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น เช่น โยโดบาชิคาเมร่า, บิ๊กคาเมร่า หรือ ร้านค้าในสนามบิน

การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

ภายในเมือง สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ที่ธนาคาร หรือธนาคารในไปรษณีย์ที่มีบริการแลกเงินตราต่างประเทศ, ที่ทำการไปรษณีย์บางส่วน, จุดรับแลกเปลี่ยนเงินตรา เช่น ทราเวเล็กซ์ (Travelex), เวิลด์เคอเรนซี่ช็อป (World Currency Shop) และที่ร้านขายตั๋ว (เช่น ไดโคคุยะ) โดยส่วนมากธนาคารจะเปิดวันธรรมดา เวลา 09:00 - 15:00 น. ธนาคารในไปรษณีย์และที่ทำการไปรษณีย์จะเปิด 09:00 - 16:00 น. และจุดรับแลกเปลี่ยนเงินตราส่วนมากจะเปิดนานกว่าธนาคาร คือ 10:00 - 17:00 หรือ 18:00 น. โดยมีบางส่วนเปิดในวันเสาร์อาทิตย์ด้วย

ATM

ATM ของธนาคารญี่ปุ่นส่วนมาก จะไม่รองรับบัตร ATM หรือ บัตรเครดิตของต่างประเทศ แต่สามารถใช้ได้ที่ ATM ของธนาคารในไปรษณีย์, ATM ของธนาคารเซเว่นที่มีอยู่ตามร้านเซเว่นทุกสาขา นอกจากนั้นยังสามารถใช้บัตรเครดิตที่สามารถกดเงินสด กดเงินจากตู้ ATM ในร้านสะดวกซื้อบางร้าน เช่น แฟมิลี่มาร์ท โดยขอให้ดูโลโก้ของบริษัทบัตรเครดิตว่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่แสดงอยู่บริเวณตู้ ATM หรือไม่ *เงื่อนไขในการให้บริการของแต่บริษัทอาจแตกต่างกัน โปรดตรวจสอบก่อนออกเดินทาง

SEVEN BANK
JP BANK

วิธีใช้ ATM

สอดบัตร

กดปุ่ม "ถอนเงิน" (Withdraw)

ใส่รหัส แล้วกด "ENTER"

④ระบุจำนวนเงินที่ต้องการถอน (เงินเยน) 

รับเงิน, บัตร ATM และใบแจ้งยอดจากเครื่อง

บัตรเครดิต

ร้านค้าที่สามารถใช้บัตร VISA, MasterCard, ฯลฯ ได้จะมีสัญลักษณ์ของบัตรที่ใช้ได้แสดงอยู่บริเวณทางเข้าร้าน หรือจุดชำระเงิน แต่ทั้งนี้จะมีบัตรที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้อยู่ หากไม่ทราบว่าบัตรของท่านใช้ได้หรือไม่ โปรดสอบถามพนักงานภายในร้าน

มุสลิม/ ฮาลาล

ปัจจุบันมีร้านอาหารและศูนย์การค้าที่รองรับฮาลาลเพิ่มมากขึ้น และศูนย์การค้าก็ค่อยๆจัดให้มีห้องละหมาดเพิ่มมากขึ้นด้วย

การแต่งกาย

แต่งกายตามความเหมาะสมและสภาพอากาศ มีเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น โรงแรม หรือ ภัตตาคารหรูหรา ที่ต้องแต่งกายด้วยชุดสุภาพเป็นทางการ แต่โดยปกติแล้วไม่จำเป็น

ทิป

โดยปกติแล้วไม่จำเป็น แต่อาจมีการเก็บค่าบริการเพิ่มเวลาชำระเงินที่ร้านอาหาร, ที่พัก ฯลฯ

ห้องน้ำ

ห้องน้ำมีทั้งแบบตะวันตกและแบบญี่ปุ่น ซึ่งทั้งสองแบบเกือบทั้งหมดจะเป็นชักโครก (กดน้ำชำระ) "โปรดทิ้งกระดาษชำระที่ใช้แล้วลงชักโครก!" แล้วกดน้ำ ห้ามทิ้งสิ่งอื่นนอกเหนือจากกระดาษชำระที่มีให้ในห้องน้ำลงชักโครก และห้องน้ำส่วนมากจะใช้ที่รองนั่งไฟฟ้าแบบมีเครื่องฉีดชำระอัตโนมัติด้วยน้ำอุ่น

กฎจราจร/ สัญญาณไฟ

รถยนต์ในญี่ปุ่นขับชิดซ้าย และปกติคนจะเดินชิดขวา โดยเวลาเดินต้องเดินบนทางเท้า และข้ามถนนตรงทางข้าม ส่วนสัญญาณไฟ "สีเขียว หมายถึง ไปได้" และ "สีแดง หมายถึง ให้หยุด" ต้องปฏิบัติตามสัญญาณไฟ และห้ามข้ามถนนในลักษณะที่อันตรายอย่างเด็ดขาด ในบางที่สัญญาณไฟจะเป็นแบบกดปุ่ม คือ ผู้ที่ต้องการข้ามถนนจะต้องกดปุ่มก่อน แล้วรอให้สัญญาณไฟเปลี่ยนสีแล้วจึงข้าม

บันไดเลื่อน

ปัจจุบันมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้ยืนชิดซ้าย แล้วเว้นข้างขวาไว้สำหรับให้ผู้ที่เร่งรีบสามารถเดินขึ้นได้ (ที่โอซาก้าจะยืนชิดขวา) แต่เนื่องจากอันตรายและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จึงมีการรณรงค์ให้ยืนสองแถวและห้ามเดินบนบันไดเลื่อน

ลิฟต์

ก่อนเข้า กรุณาหลบให้คนที่อยู่ในลิฟต์ออกมาก่อน เมื่อคนในลิฟต์ออกหมดแล้วจึงค่อยเข้าไป หากยืนอยู่หน้าแผงควบคุมแล้วมีคนจะออกจากลิฟต์ ควรกดปุ่มเปิดให้ และโปรดเลี่ยงการคุยเสียงดังหรือคุยโทรศัพท์ภายในลิฟต์

มารยาทในที่สาธารณะ

โปรดระวังเรื่องการคุยโทรศัพท์ในที่สาธารณะ

การคุยโทรศัพท์ในร้านอาหาร, ศาลเจ้า, พิพิธภัณฑ์, บนรถไฟฟ้า, ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โปรดปิดเสียงและเลี่ยงการคุยโทรศัพท์

โปรดเข้าแถวให้เป็นระเบียบ

เวลาขึ้นรถไฟฟ้า หรือ เข้าแถวรอชำระเงิน ให้คนที่เข้าแถวอยู่ก่อนหน้าไปก่อน ห้ามแทรกแถว ขอให้ไปต่อที่ท้ายแถว

โปรดทิ้งขยะให้ลงถัง

หากไม่พบถังขยะในบริเวณนั้นๆ ต้องนำขยะกลับบ้าน หรือ ที่พัก และควรแยกทิ้งตามประเภทขยะ เช่น ขยะที่เผาได้, เผาไม่ได้, พลาสติกรีไซเคิล, ฯลฯ ให้ถูกต้อง

โปรดรักษามารยาทในโรงแรม

ไม่ส่งเสียงดังบริเวณทางเดิน หรือ ล็อบบี้ของโรงแรม รวมถึงในห้องพักด้วย ส่วนการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟต์ ควรตักแต่พอรับประทาน แล้วกลับมานั่งรับประทานที่โต๊ะ

โปรดตรวจสอบมารยาทการใช้ห้องอาบน้ำล่วงหน้า

ห้องอาบน้ำของญี่ปุ่นไม่ได้มีแต่ฝักบัว โดยทั่วไปจะแบบอ่างให้ลงไปแช่ได้ด้วย กรณีที่จะเข้าอาบน้ำร่วมกับผู้อื่นในออนเซ็น, โรงอาบน้ำสาธารณะ, ห้องอาบน้ำรวม, ฯลฯ ต้องอาบน้ำล้างตัวให้สะอาดก่อนลงแช่ และห้ามนำผ้าเช็ดตัว (ผืนใหญ่) ลงไปในบ่อ อีกทั้งห้ามว่ายน้ำ หรือ กระโดดลงน้ำเหมือนอยู่ในสระว่ายน้ำ, ห้ามแปรงฟัน หรือ ซักผ้าในห้องอาบน้ำ และควรเช็ดตัวให้แห้งในระดับหนึ่งก่อนกลับออกมายังห้องเปลี่ยนชุด

บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 10/02/2016