tr?id=1543387775907290&ev=PageView&noscript=1

ข้อแนะนำในการพักอาศัย

  • icn_TW.png
  • icn_Gp.png

อาหาร

อาหารญี่ปุ่น

ขอแนะนำประเภทของอาหารที่คุณสามารถลิ้มลองได้ในประเทศญี่ปุ่น มาลิสกันเถอะว่าอยากทานอะไรเวลาที่มาเที่ยวญี่ปุ่น ข้อมูลพวกนี้จะเป็นประโยชน์เวลาที่เราไปเจออาหารที่ไม่รู้จักระหว่างท่องเที่ยวอีกด้วย

ซาชิมิ/ 刺身 (Sashimi)
เนื้อดิบ เช่น ปลา หรือ หอย ที่มีความสดมากๆ ที่นำมาแล่ขนาดพอคำ เพื่อรับประทานดิบ ด้วยการจิ้มโชยุหรือซีอิ้วญี่ปุ่น หรืออาจจิ้มด้วย “วาซาบิ” เล็กน้อย

ซูชิ/ 寿司 (Sushi)
ข้าวที่ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชู นำมาปั้นขนาดพอคำ แล้วนำเนื้อซาชิมิ วางด้านบน โดยจะใส่ “วาซาบิ” ระหว่างข้าวกับเนื้อ รับประทานด้วยการจิ้มโชยุ หรือ ซี่อิ้วญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีซูชิบางอย่างที่ห่อด้วย สาหร่ายด้วย

เทมปุระ/ 天ぷら (Tempura)
อาหารทะเล หรือ ผักที่ชุบแป้งสาลีผสมไข่แล้วนำไปทอดในน้ำมัน รับประทานกับน้ำจิ้ม “เทนสึยุ” ที่มีโชยุซี่อิ้วญี่ปุ่นเป็นส่วนผสมหลัก หรือ จิ้มเกลือ

อุนางิ/ うなぎ (Unagi)
โดยทั่วไป จะรับประทานปลาไหลที่ปรุงด้วยกรรมวิธี “คาบะยากิ” ซึ่งคือการแล่ปลาไหลแล้วย่างบน เตาถ่าน ระหว่างย่างจะจุ่มน้ำจิ้มที่มีโชยุเป็นส่วนผสมหลักเพื่อให้สุกหอม ปลาไหลย่างนี้ ถ้าเสิร์ฟวางบนข้าวสวย จะเรียกว่า “อุนะด้ง” หรือ “อุนะจู”

ทงคัตสึ/ とんかつ (Tonkatsu)
เนื้อหมูชุบแป้งสาลี ไข่ แล้วโรยด้วยเกล็ดขนมปัง ก่อนนำไปทอด รับประทานกับน้ำจิ้มซอสทงคัตสึ และมัสตาร์ด เมื่อนำทงคัตสึมาต้ม ปรุงรสด้วยเครื่องปรุง เช่น โชยุ แล้วโปะหน้าด้วยไข่ จะเรียกข้าวหน้าหมูนี้ว่า “คัตสึด้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่รู้จักกันดี

นาเบะ/ 鍋料理 (Nabe Ryori)
อาหารประเภทหม้อไฟ ที่ใส่ผักและเนื้อต่างๆ เช่น เนื้อหมู หรือ ปลา ต้มในหม้อไฟฟ้าบนโต๊ะอาหาร โดยหม้อไฟมีอยู่หลายชนิด เช่น “โยเซนาเบะ”, “มิซุทากิ” และ “จังโกะนาเบะ” ซึ่งรสชาติที่ปรุง หรือ วัตถุดิบที่ใช้ไม่มีการกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับร้านอาหาร

สุกี้ยากี้/ すき焼き (Sukiyaki)
เป็นอาหารหม้อไฟชนิดหนึ่ง โดยผัดเนื้อวัวแล่บาง ก่อนนำผัก, เต้าหู้ มาใส่พร้อมซุปที่ปรุงรสด้วยโชยุและน้ำตาล รับประทานด้วยการจิ้มกับไข่ดิบ

ชาบุชาบุ/ しゃぶしゃぶ (Shabu Shabu)
เป็นอาหารหม้อไฟชนิดหนึ่ง โดยจะจุ่มเนื้อวัวหรือหมูแล่บาง และ ผักต่างๆ เพื่อลวกในหม้อต้มที่มีน้ำซุป รับประทานกับน้ำจิ้มรสเปรี้ยวพอนสึ หรือ น้ำจิ้มงาบดโกมะดาเระ

โอเด้ง/ おでん (Oden)
เป็นอาหารประเภทต้ม ที่ใส่หัวไชเท้า, สาหร่ายคอมบุ, ไข่ต้ม, ลูกชิ้นปลา ต้มในน้ำซุปดาชิที่ทำจากสาหร่ายคอมบุต้มกับปลาโอแห้ง (คัตสึโอะ) และปรุงรสด้วยโชยุ

ดงบุริ/ どんぶり (Donburi)
การวาง "กับข้าว" บนข้าวสวยในชามข้าวที่เรียกว่า “ดงบุริ” โดยมีด้วยกันอยู่หลายชนิด เช่น “เทนด้ง”, “โอยาโกะด้ง”, “กิวด้ง” หรือ ข้าวหน้าซาชิมิ “ไคเซนด้ง” เป็นต้น

เทนด้ง/ 天丼 (Tendon)
อาหารที่วางเทมปุระบนข้าวสวย แล้วราดด้วยน้ำซอสโชยุดาเระ

โอยาโกะด้ง/ 親子丼 (Oyakodon)
ต้มเนื้อไก่กับต้นหอมในน้ำซุป “วาริชิตะ” ซึ่งเป็นน้ำซุปที่มีโชยุเป็นส่วนผสมหลัก เมื่อสุกโปะหน้าด้วยไข่ และวางบนข้าวสวย

กิวด้ง/ 牛丼 (Gyudon)
ต้มเนื้อวัวชิ้นบางๆกับหัวหอมใหญ่ แล้วปรุงรสด้วยโชยุและมิลิน ก่อนวางบนข้าวสวย โดยร้านเชนสโตร์ เช่น “โยชิโนยะ”, “สุคิยะ” เป็นที่รู้จักกันดีว่าสั่งอาหารแล้วเสิร์ฟรวดเร็วทันใจ และมีราคาถูก

โอโคโนมิยากิ・มอนจายากิ/ お好み焼き・もんじゃ焼き (Okonomiyaki・Monjayaki)
แป้งสาลีผสมน้ำคนให้เข้ากัน ผสมกับเครื่อง เช่น ผัก, เนื้อ หรือ อาหารทะเล แล้วปิ้งทั้งสองหน้าบน กระทะเหล็ก เมื่อสุกแล้วทาด้วยซอสและมายองเนสก่อนรับประทาน ส่วนมอนจายากิ จะผสมแป้งกับเครื่องเช่นเดียวกับโอโคโนมิยากิ แล้วใส่เครื่องปรุงรส เช่น ซอส ผสมเข้าไปด้วย และจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “โคเทะ” กดเนื้อแป้งให้ติดกับกระทะ เพื่อย่างก่อนรับประทาน

ยากิโทริ/ 焼き鳥 (Yakitori)
เนื้อไก่หั่นขนาดพอคำ เสียบไม้ย่างบนเตาถ่าน โดยมีรสให้เลือกคือ รสน้ำจิ้ม “ทาเระ” ที่มีโชยุเป็นส่วนผสมหลัก และรสเกลือ "ชิโอะ"

คุชิอาเกะ/ 串揚げ (Kushiage)
เนื้อสัตว์, ผัก หรืออาหารทะเล หั่นขนาดพอคำ เสียบไม้แล้วชุบแป้งทอด รับประทานโดยจิ้มกับซอส

โอมุสุบิ・โอนิกิริ/ おむすび・おにぎり (Omusubi・Onigiri)
ข้าวสวยปั้นทรงสามเหลี่ยม หรือ เป็นท่อนยาว ห่อด้วยสาหร่าย ข้างในใส่ไส้ต่างๆ เช่น ปลาแซลมอน ย่าง หรือ บ๊วยดอง เป็นอาหารที่รับประทานได้สะดวก จึงเป็นเมนูประจำของข้าวกล่อง โดยไส้ที่ใส่มี ความหลากหลาย วางจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ

อาหารชุด "เทโชคุ"/ 定食 (Teishoku)
อาหารชุดที่มีอาหารจานหลัก เช่น ปลาย่าง หรือ ของทอด เสิร์ฟพร้อมข้าว, ซุปมิโซะ และผักดอง

ปลาปักเป้า/ ふぐ (Fugu)
ปลาราคาแพงที่มีรสชาติดีในฤดูหนาว มีพิษอยู่ในพุงปลา ดังนั้นเชฟที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ที่จะสามารถแล่ปลานี้ได้ ส่วนใหญ่มักจะรับประทานดิบแบบซาชิมิ, ทอดกรอบ หรือ หม้อไฟนาเบะ

โซบะ/ そば (Soba)
อาหารประเภทเส้นที่ทำจากแป้งโซบะ สามารถรับประทานแบบ “คาเคะโซบะ” โดยใส่โซบะในชามแล้วเติม น้ำซุปร้อนที่มีโชยุเป็นส่วนผสมหลัก หรือ แบบ “โมริโซบะ” โดยจุ่มเส้นโซบะในน้ำซุปที่แช่เย็น มักจะรับประทานกับเครื่องเขียง เช่น เทมปุระ หรือ ผักภูเขา ร้านโซบะมีบรรยากาศที่หลากหลาย ตั้งแต่ร้านเก่าแก่ที่ภาคภูมิใจในความดั้งเดิม จนถึงร้านแบบยืนกิน ราคาจึงแตกต่างกันมากขึ้นอยู่กับร้าน

อุด้ง/ うどん (Udon)
อาหารประเภทเส้นที่ทำจากแป้งสาลี วิธีรับประทานเช่นเดียวกับโซบะ คือ มีทั้งแบบร้อนและเย็น ความหนาของเส้นและการปรุงรสน้ำซุปจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น

ราเมน/ ラーメン (Ramen)
ราเมนได้รับการถ่ายทอดจากจีน ก่อนถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบญี่ปุ่น ชนิดของน้ำซุปมีหลายอย่าง เช่น น้ำซุปรสซีอิ้ว “โชยุ”, รสเต้าเจี้ยว “มิโซะ”, รสเกลือ “ชิโอะ”, รสกระดูกหมู “ทงคตสึ” โดยร้านราเมนมีอยู่ทั่วทุกมุมเมือง และร้านที่ได้รับความนิยมจะมีคนเข้าคิวอยู่ตลอด

ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น/ カレーライス (Kare Raisu)
ข้าวสวยราดด้วยน้ำแกงกะหรี่ข้นๆ ใส่แครอทและมันฝรั่ง เป็นอาหารประจำบ้าน

เครื่องในสัตว์/ ホルモン (Horumon)
อาหารพวกเครื่องในสัตว์ เช่น “โมทสึนิ” หรือ เครื่องในสัตว์ต้มกับผัก และใส่วุ้นหัวบุกคอนเนียคุ ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยวญี่ปุ่นมิโซะและโชยุ ส่วน “โฮรุมอนยากิ” คือ เครื่องในสัตว์ที่หมักปรุงรสไว้แล้วนำมาย่างทาน

วัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่นมีร้านอาหารหลายประเภท ซึ่งมีบรรยากาศ และราคาแตกต่างกันออกไป มาลิ้มลองอาหารญี่ปุ่นหลายๆ แบบกันเถอะ

ไคเซคิ เรียวริ/ 懐石料理・会席料理 (Kaiseki Ryori)
อาหารญี่ปุ่นแบบคอร์ส ที่เสิร์ฟทีละรายการตามลำดับ เช่น อาหารเรียกน้ำย่อย, น้ำซุป, ซาชิมิ, ปลาย่าง, อาหารต้ม, ของทอด, ข้าวสวย เป็นต้น โดยทั่วไปราคาจะสูง สำหรับมื้อกลางวัน มีร้านจำนวนมากที่มีอาหารเป็นคอร์สเช่นนี้แบบเรียบง่าย หรือ เสิร์ฟในรูปแบบที่เรียกว่า “เบนโตะ” โดยจัดวางอาหารในภาชนะลักษณะเป็นกล่อง โดยมีราคาที่ถูกกว่า

เหล้าญี่ปุ่น/ 日本の酒 (Nihon no sake)
เหล้า หรือ "สาเกญี่ปุ่น" เป็นเหล้าหมักจากข้าว มีการจำแนกประเภทตามอัตราการขัดสีผิวข้าวเพื่อลดรสเจือปนต่างๆ หรือ จำแนกว่าใส่สารเติมแต่งหรือไม่ วิธีดื่มจะแตกต่างกัน นอกจากดื่มแบบอุ่น “อะสึคัง” บางทีก็ดื่มแบบแช่เย็น หรือดื่มแบบอุณหภูมิห้อง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับชนิดของเหล้าและความชอบ ส่วน "โชจู" เป็นเหล้ากลั่น ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตที่คิวชู หรือ โอกินาว่า วัตถุดิบหลักคือ ข้าวบาร์เลย์ หรือ มันและข้าว มีลักษณะพิเศษ คือ มีรสชาติและกลิ่นหอมที่มาจากรสวัตถุดิบที่ยังคงไว้ สามารถดื่มแบบอุ่นโดยผสมน้ำร้อน หรือ ใส่น้ำแข็งดื่มแบบเย็น หรือแบบ “ชูไฮ” โดยผสมกับน้ำผลไม้พวกส้มและ มะนาว เช่น ไลม์ เลมอน หรือ ผสมกับชาเขียว แล้วเติมด้วยน้ำโซดา

ร้านกินดื่มอิซากายะ/ 居酒屋 (Izakaya)
ภัตตาคารที่มีเครื่องดื่มประเภทเหล้า เช่น เบียร์, สาเกญี่ปุ่น, โชจู ให้เลือกดื่ม พร้อมกับการรับประทานอาหารอย่างเพลิดเพลิน เมื่อนั่งที่โต๊ะแล้ว พนักงานจะเสิร์ฟอาหารจานเล็กๆที่เรียกว่า “โอโทชิ” (ราคาหลายร้อยเยน) ร้านส่วนใหญ่จะมีเมนูหลากหลายให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นอาหารญี่ปุ่น เช่น ซาชิมิ, ปลาย่าง หรือ พวกมันฝรั่งทอด หรือ สเต็ก

แฟมิลี่เรสเตอรองท์/ ファミリーレストラン (Family Restaurant)
ภัตตาคารสำหรับครอบครัว มีการขยายสาขาในลักษณะเป็นเชน (chain) โดยทั่วไปมีเมนูที่หลากหลาย ให้เลือก ทั้งอาหารฝรั่ง เช่น แฮมเบอร์เกอร์, สเต็ก, หรือ เซ็ตอาหารญี่ปุ่นลักษณะเด่น คือ มีเมนูเล่มใหญ่ที่มีภาพประกอบ ซึ่งเข้าใจได้ง่ายถึงแม้จะเป็นชาวต่างชาติ

โชคุโด/ 食堂 (Shokudo)
ร้านสไตล์กันเอง มักขายอาหารชุด, ข้าวหน้าต่างๆ หรือ ดงบุริ, อาหารพวกเส้น โดยมีราคาค่อนข้างถูก

ร้านเหล้าแบบยืนดื่ม/ 立ち飲み屋 (Tachinomiya)
รูปแบบร้านเหล้าตามย่านบันเทิง เช่น ชินจูกุ (Shinjuku), ชิมบาชิ (Shimbashi) เป็นต้น ส่วนมากเป็นร้านขนาดเล็กที่มีแต่เคาเตอร์ และไม่มีที่นั่ง เมนูมีเบียร์, สาเกญี่ปุ่น, โชจู และอาหารง่ายๆ แต่ในระยะหลังนี้ มีร้านบางแห่งที่ขายไวน์อีกด้วย

เรียวเท・คัปโป/ 料亭・割烹 (Ryotei・Kappo)
ร้านอาหารชั้นสูงที่ให้บริการอาหารญี่ปุ่น โดย "เรียวเท" ส่วนมากจะมีห้องแบบส่วนตัว บางร้านจะ สามารถเรียก “เกอิชา” มาแสดงโชว์ฟ้อนรำแบบญี่ปุ่นเพื่อบันเทิงลูกค้าได้ด้วย ส่วน "คัปโป" จำนวนมากมีการจัดที่นั่งแบบนั่งที่เคาเตอร์ไว้ด้วย และค่อนข้างจะเป็นกันเองกว่าเรียวเท

อาหารเกียวโต/ 京料理 (Kyo Ryori)
เป็นอาหารที่พัฒนาขึ้นมาในเกียวโต เมืองหลวงของญี่ปุ่นในอดีต โดยได้รับอิทธิพลจาก “อาหารเจ” ที่ถวายกันในวัด และ “อาหารไคเซคิ” เป็นต้น และจากการที่เกียวโตมีทรัพยากรทางทะเลน้อย จึงประยุกต์การทำอาหารและจัดตกแต่งจานโดยใช้วัตถุดิบจำพวก ผักและของแห้ง ฯลฯ ซึ่งจะถูกเตรียมและถ่ายถอดความพิถีพิถันและความใส่ใจของเชฟ ผ่านการใช้ภาชนะตามฤดูกาล, การแต่งกลิ่นรสอย่างละเอียดอ่อน

อาหารจากเต้าหู้/ 豆腐料理 (Tofu Ryori)
เต้าหู้ที่ทำมาจากน้ำซึ่งคั้นออกมาจากถั่วเหลือง (นมถั่วเหลือง) สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายแบบ เช่น “เด็นราคุ” ที่ทามิโซะแล้วนำมาย่างให้มีกลิ่นหอม หรือ “ยุโดฟุ” ที่รับประทานโดยนำมาอุ่นกับซุปสาหร่ายในหม้อนาเบะ ส่วน “ฟองเต้าหู้” ที่ได้จากการต้มนมถั่วเหลือง ก็สามารถรับประทานแบบนั้นได้เลย หรือ นำมาทำเป็นอาหารประเภทต้ม โดยใช้น้ำซุปรสโชยุก็ได้

เจงกิสข่าน/ ジンギスカン (Jingisukan)
อาหารปิ้งย่างที่มีส่วนประกอบคือ เนื้อแกะหั่นบางและผัก โดยใช้หม้อเหล็กที่มีส่วนตรงกลางนูนขึ้นมา ซึ่งจะทำให้น้ำที่ออกมาจากเนื้อแกะย่างไหลผ่านผักที่ย่างอยู่รอบๆ ช่วยเพิ่มรสความอร่อยให้มากขึ้น

มารยาทในการรับประทานอาหาร

อาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารที่ให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนของกลิ่นมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ดังนั้นเวลาที่เข้าไปทานอาหารญี่ปุ่นในร้านจึงควรหลีกเลี่ยงการใส่น้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมการยกชามอาหารขึ้นมารับประทานด้วย ส่วนการใช้ตะเกียบ จะไม่ใช้ตะเกียบกับตะเกียบรับส่งอาหารกัน รวมทั้งไม่ปักตะเกียบลงในชามข้าว เพราะในญี่ปุ่นถือเป็นการกระทำที่ไม่ดีและเกี่ยวข้องกับคนตาย จึงขอให้ระวังเรื่องเหล่านี้ด้วย 

ร้านซูชิ

ในร้านซูชิทั่วไป ลูกค้าจะนั่งรับประทานที่เคาน์เตอร์โดยมีเชฟยืนปั้นซูชิให้ตรงหน้า แต่ถ้าเป็นร้านซูชิแบบสายพาน เราสามารถเลือกหยิบซูชิที่อยากทานจากสายพานที่หมุนอยู่ได้ตามชอบใจ (บางร้านเราสามารถขอให้เชฟช่วยปั้นให้ใหม่ได้ด้วย) ร้านซูชิแบบสายพานที่ราคาย่อมเยานี้เป็นที่นิยมมากเช่นกัน

ร้านซูชิทั่วไป

ถ้าเป็นไปได้ควรจองก่อนไปที่ร้าน หากได้กำหนดงบเอาไว้แล้ว หรือ มีอาหารที่ไม่ชอบ ควรแจ้งเชฟขณะสั่ง แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะสั่งอะไรดี แนะนำให้สั่งแบบ "โอมากาเซะ" (เชฟแนะนำ)
ส่วนวิธีรับทานซูชิ จะใช้มือ หรือ ใช้ตะเกียบก็ได้ โดยนำด้านที่เป็นเนื้อปลาไปแตะกับซีอิ๊วโชยุ ถ้าเป็นไปได้ควรทานทั้งคำในครั้งเดียว และก่อนที่จะทานซูชิคำต่อไป ควรทานขิงดอง "การิ" หรือ ดื่มน้ำ "ชา" เพื่อล้างรสชาติซูชิคำก่อนหน้าอีกด้วย

ร้านซูชิสายพาน

ที่ร้านซูชิแบบสายพาน ซูชิบนจานใบเล็กเรียงรายบนสายพานที่หมุนอยู่ ลูกค้าสามารถเลือกหยิบจานที่อยากทานจากสายพานด้วยตัวเอง และราคาซูชิแต่ละจานจะแตกต่างกัน โดยดูได้จากสีของจาน ทางร้านจะวางผงชา น้ำร้อน ตะเกียบ รวมถึงโชยุ และขิงดองเอาไว้ที่ส่วนกลาง ควรหยิบใช้ หรือ ทานโดยไม่รบกวนผู้ที่นั่งติดกัน และมารยาทอีกอย่างที่สำคัญคือ ถ้าหยิบจานซูชิขึ้นมาจากสายพานแล้ว ห้ามวางคืนกลับไป ให้ดูก่อนว่าเราทานได้มากแค่ไหนแล้วค่อยหยิบมา

คาเฟ่และฟาสต์ฟู้ด

หากต้องการแวะพักระหว่างเดินทาง การแวะพักที่คาเฟ่ และร้านฟาสต์ฟู้ดก็ช่างสะดวกสบาย มารู้จักกับประเภทของ "คาเฟ่" ที่มีมากหมายหลายแบบในญี่ปุ่นกัน

ร้านกาแฟ
เป็นร้านในรูปแบบที่ต้องสั่งสินค้าที่เคาน์เตอร์, ชำระเงิน แล้วจึงไปนั่งโต๊ะหรือนำกลับบ้าน ในประเทศญี่ปุ่นจะมีร้านกาแฟจำนวนมากอยู่ภายในสถานีหลักหรือในย่านร้านค้า โดยสามารถใช้เป็นที่พักผ่อนได้ ร้านที่เป็นแฟรนไชส์ชั้นนำของญี่ปุ่น ได้แก่ “โดตอร์คอฟฟี่ (Doutor Coffee)” เมนูยอดนิยมคือ ฮอทดอก และมีสาขามากที่สุดด้วย นอกจากนั้นยังมี “เซนต์มาร์ค คาเฟ่ (Saint Marc Cafe)” ซึ่งมีเมนูขนมปังให้เลือกมากมาย และร้านกาแฟอื่นๆ เช่น “คาเฟ่ เวโลเช่ (Cafe Veloce)”, “พรอนโต้ (Pronto)” ฯลฯ ส่วนร้านคาเฟ่ต่างประเทศ ได้แก้ “สตาร์บัคส์ (Starbucks)” และ “ทัลลี่ (Tully's)” ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลกจำนวนมาก โดยใน “สตาร์บัคส์” จะสามารถใช้บริการ Wi-Fi ฟรีได้ด้วย

คาเฟ่/ 喫茶店 (Kissaten)
เป็นร้านที่จะให้บริการเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ, ชา, น้ำผลไม้ มีบริการอาหารเบาๆ เช่น แซนด์วิช และขนมต่างๆ เช่น เค้ก เป็นหลัก โดยจะเป็นรูปแบบการนั่งสั่งที่โต๊ะ แล้วพนักงานจะนำมาเสิร์ฟให้ถึงที่ โดยร้านส่วนมากจะมีบริการขนมปังปิ้ง, ไข่ต้ม ฯลฯ ควบคู่กับเครื่องดื่มเป็นเซ็ตราคาถูกสำหรับอาหารเช้า นอกจากนี้ ร้านส่วนมากจะมีโซฟา ให้สามารถพักผ่อนได้อย่างสบาย มีทั้งร้านที่เป็นแฟรนไชส์ เช่น “โคฮีคัง (Kohekan)” และร้านที่เป็นแบบบริหารด้วยตนเอง

ร้านขนมหวาน/ 甘味処 (Kanmidokoro)
ร้านที่ให้บริการขนมหวานญี่ปุ่น เช่น “โอชิรุโกะ” ที่ใส่โมจิหรือดันโกะลงไปในน้ำถั่วต้มหวาน, “คันเทน” เยลลี่ที่ทำจากสาหร่ายทะเล, “อันมิตสึ” ที่ใส่ "อันโกะ” ซึ่งได้จากการนำถั่วมาต้มแล้วแต่งรสหวาน, “มิทาราชิดันโกะ” ที่ใช้โชยุในการทำ เป็นต้น

ร้านแฮมเบอร์เกอร์
ในประเทศญี่ปุ่น จะมีร้านแฮมเบอร์เกอร์ให้เห็นได้ทั่วไปตามสถานีหลักหรือในย่านร้านค้าเช่นเดียวกับร้านกาแฟ โดยร้านแฮมเบอร์เกอร์แบบแฟรนไชส์ที่เกิดในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ “มอสเบอร์เกอร์ (Mos Burger)” ซึ่งมีเมนูที่ใช้วัตถุดิบจากญี่ปุ่น เช่น “ไรส์เบอร์เกอร์” ที่ทำจากข้าว, “เทริยากิเบอร์เกอร์” ที่แต่งรสด้วยโชยุ ฯลฯ รวมถึงร้านแฮมเบอร์เกอร์อื่นๆ เช่น “ลอตเทอเรีย (Lotteria)”, “เฟรชเนสเบอร์เกอร์ (Freshness Burger)” เป็นต้น

ร้านฟาสต์ฟู๊ดอื่น ๆ

ร้านฟาสต์ฟู๊ดประเภทอื่นๆ ก็มีให้ใช้บริการจำนวนมาก เช่น “เคเอฟซี”, “มิสเตอร์โดนัท” ฯลฯ และยังมีฟาสต์ฟู๊ดเฉพาะของญี่ปุ่น อย่าง “ทาโกยากิ” ที่ทำจากแป้งสาลี ใส่เนื้อหมึกยักษ์แล้วย่างเป็นก้อนกลม แต่ส่วนมากจะเป็นร้านที่ขายเฉพาะแบบนำกลับบ้านเท่านั้น

ช้อปปิ้ง

ข้อมูลช้อปปิ้ง

แน่นอนว่า ช้อปปิ้ง เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการมาเที่ยวที่ญี่ปุ่น มาทำความรู้จักร้านค้าประเภทต่างๆ ในญี่ปุ่น เพื่อให้ช้อปปิ้งได้อย่างสนุกและคุ้มค่า

ห้างสรรพสินค้า
มีสินค้าระดับเลิศจากประเทศต่างๆ รวมทั้งสินค้าแบรนด์ระดับประเทศอย่างพร้อมสรรพ ส่วนมากชั้นบนจะเป็นชั้นภัตตาคาร ชั้นใต้ดินเป็นชั้นอาหารที่เรียกว่า “เดปาจิกะ” ซึ่งขายอาหารสดและขนม ห้างแทบทุกแห่งจะมีเคาเตอร์จัดการเรื่องการยกเว้นภาษีบริโภค

ช้อปปิ้งมอลล์
ร้านค้าขนาดใหญ่ที่จำหน่ายอาหาร ของใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องนุ่งห่ม มีภัตตาคาร คาเฟ่ บาร์ ประเภทต่างๆ บางแห่งมีโรงภาพยนตร์ แกลลอรี่ เกมส์เซ็นเตอร์ รวมอยู่ด้วย

ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่
มีเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนทั้งหลายไว้ให้เลือกซื้อ สินค้าจำนวนมากลดราคาแล้ว แต่บางครั้งสามารถลดราคาให้ถูกลงได้อีกด้วยการต่อราคา ร้านที่อยู่ในอากิฮาบาระ (Akihabara), ชินจูกุ (Shinjuku), ยูระคุโจ (Yurakucho) ในโตเกียวนั้น แทบทุกแห่งจะมีเคาเตอร์จัดการเรื่องยกเว้นภาษีบริโภค ร้านที่มีชื่อเสียง เช่น “โยโดบาชิคาเมร่า (Yodobashi Camera)”, “ยามาดะเดงกิ (Yamada Denki)”

ร้านดิสเคานท์สโตร์
ขายสินค้าแบบลดราคา เช่น อาหารแปรรูป ของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น ร้านมีชื่อเสียง คือ ร้าน “ดองกิโฮเต้ (Don Quijote)” มีพื้นที่ขายของกว้างขวาง และมีสินค้าหลากหลายให้เลือกซื้อมากมาย

ร้านดรักสโตร์
มีสินค้ายา อาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม ของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องดื่ม อย่างครบครัน สินค้าส่วนใหญ่ขายลดราคา ร้านชื่อดัง ได้แก่ “มัตสึโมโตะ คิโยชิ (Matsumoto Kiyoshi)”

ซุปเปอร์มาร์เกต
จำหน่ายอาหารสด อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สามารถหาซื้อเครื่องปรุงรส “โชยุ” หรือ ซีอิ้วญี่ปุ่น ซึ่งขาดไม่ได้สำหรับอาหารญี่ปุ่น ได้ที่นี่

ร้านสะดวกซื้อ
มีอยู่ทุกหนแห่งทั่วเมือง เปิดตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกอาหารแปรรูป เช่น โอนิกิริ แซนวิช ราเมนสำเร็จรูป ขนม และเครื่องดื่ม ยังจำหน่ายพวกของใช้ในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถ่านไฟฉาย เครื่องเขียน หรือ หนังสือพิมพ์ นิตยสารด้วย มีบริการต่างๆ เช่น รับฝากส่ง ของถึงมือผู้รับ จองตั๋ว ปริ้นท์รูป

ร้าน 100 เยน
หลักการตั้งราคาสินค้า คือ 1ชิ้น 100 เยน (ไม่รวมภาษี) มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย เช่น อาหารแปรรูป ของใช้ในครัว ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องเขียน ของใช้จัดสวน ของเล่น ฯลฯ ร้านยอดนิยม ได้แก่ “ไดโซะ (Daiso)” และ “แคนดู (Can Do)”

ถนนร้านค้า (โชเทนไก)
มีร้านค้าส่วนตัว เช่น ร้านขายเนื้อ ร้านขายปลา ร้านขนม ฯลฯ ห้องอาหาร ร้านกาแฟ และ อื่นๆเรียงรายสองข้างทาง ย่านที่มีชื่อเสียงคือ “ยานากะกินซ่า (Yanaka Ginza)” ในโตเกียว

ยูนิโคล่ (Uniqlo)
แบรนด์เครื่องแต่งกายสไตล์ลำลอง ที่เป็นตัวแทนของญี่ปุ่น ด้วยดีไซน์ที่เรียบง่าย และราคาที่ย่อมเยา ทำให้ได้รับความนิยมจากคนทุกเพศทุกวัย จำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยร่วมมือกับแบรนด์ดังด้วย

มูจิ (MUJI)
ผู้ผลิตของใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องนุ่งห่มของญี่ปุ่น นอกจากของใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ และอาหารแปรรูปด้วย ลักษณะเด่นคือ ดีไซน์ที่เรียบง่ายอย่างมากและมีรสนิยม มีการค้นคว้าเพื่อการสวมใส่สบายและใช้สะดวก มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพที่ดี

มารยาทในการซื้อของ

หากต้องการลองสวมเสื้อผ้า ขอให้สอบถามกับพนักงานร้านก่อนว่า สามารถลองสวมได้หรือไม่ เนื่องจากเสื้อผ้าบางส่วนที่ไม่สามารถลองสวมได้นั่นเอง การลองเสื้อผ้าที่ห้องลอง ควรเข้าไปทีละคน และเวลาลองสวมเสื้อ ควรใช้กระดาษสำหรับปิดหน้าที่ทางร้านเตรียมไว้ให้ เพื่อป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าเปรอะปื้อนเครื่องสำอาง หรือ เกิดความเสียหาย

ข้อมูลร้านค้า

ห้างสรรพสินค้าหรือร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่มักเปิดให้บริการตั้งแต่ 10.00 - 20.00 น. แต่เวลาทำการอาจแตกต่างกันในแต่ละสาขา, วัน, หรือ ฤดูกาล ส่วนร้านสะดวกซื้อมักเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่ร้านอาหาร, ร้านราเมน จะมีเวลาเปิดให้บริการต่างกันไป บางร้านอาจเปิดตั้งแต่ 11 โมง หรือ บางร้านอาจเปิดขายเฉพาะช่วงกลางคืน ตั้งแต่ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป ควรตรวจสอบเวลาล่วงหน้า

ระบบปลอดภาษี

สินค้าปลอดภาษี คือ สินค้าทุกชนิดที่สามารถถือกลับประเทศไปได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เครื่องสำอาง เป็นต้น ส่วนผู้ที่ได้รับการละเว้นภาษี คือ ผู้ที่พำนักในญี่ปุ่นระยะสั้น (ระยะพำนักต่ำกว่า 6 เดือน) เช่น นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เป็นต้น และสำหรับชาวญี่ปุ่นที่พำนักในต่างประเทศนานกว่า 2 ปี และเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดชั่วคราว ก็จะได้รับการละเว้นภาษีด้วยเช่นกัน ขอให้สังเกตร้านที่มีสัญลักษณ์ปลอดภาษี

・มูลค่าที่ได้รับการละเว้นภาษี: "สินค้าทั่วไป" มูลค่าซื้อรวม 10,001 เยนขึ้นไป (ไม่รวมภาษี) ต่อ 1 ร้าน ใน 1 วัน
・"สินค้าอุปโภคบริโภค" มูลค่าซื้อรวม 5,001 - ไม่เกิน 500,000 เยน ต่อ 1 ร้าน ใน 1 วัน

กรุณาแสดงหนังสือเดินทางเพื่อทำเรื่องขอละเว้นภาษี ที่ร้านที่สามารถทำเรื่องละเว้นภาษี
 

วิธีทำเรื่อง

A)วิธีซื้อของโดยไม่ต้องจ่ายภาษีผู้บริโภค

เมื่อซื้อของที่ร้านปลอดภาษี เพียงแสดงหนังสือเดินทาง ชำระเงินในจำนวนที่ไม่รวมภาษีผู้บริโภค จากนั้นเซ็นชื่อในเอกสารการซื้อสินค้าปลอดภาษี

เจ้าหน้าที่จะติดใบบันทึกการซื้อ (เอกสารระบุรายละเอียดการซื้อสินค้าปลอดภาษี) ลงในหนังสือเดินทางของคุณ แล้วประทับตราบนรอยต่อของหน้าหนังสือเดินทางและใบบันทึกการซื้อ

เจ้าหน้าที่สรรพากรจะเรียกเก็บใบบันทึกการซื้อ ขาออกจากประเทศญี่ปุ่น

B)วิธีขอคืนภาษีผู้บริโภคที่เคาน์เตอร์ tax free ในวันที่ซื้อของ กรณีจ่ายภาษีผู้บริโภคไปก่อน

①ไปที่เคาน์เตอร์ละเว้นภาษีที่กำหนดแล้วแสดงสินค้าที่ซื้อ, หนังสือเดินทาง (ที่มีตราประทับเข้าประเทศญี่ปุ่น), ใบเสร็จรับเงิน, ถ้าใช้บัตรเครดิตในการชำระเงิน ต้องแสดงบัตรเครดิตด้วย จากนั้นให้เซ็นชื่อในเอกสารการซื้อสินค้าปลอดภาษี

เจ้าหน้าที่จะทำเรื่องคืนเงินในส่วนภาษีผู้บริโภคให้ โดยอาจเป็นเงินสด หรือ จ่ายคืนทางบัตรเครดิตให้ภายหลัง เป็นต้น

*อาจมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ

เจ้าหน้าที่สรรพากรจะเรียกเก็บใบบันทึกการซื้อ ขาออกจากประเทศญี่ปุ่น

กรุณาดูรายละเอียดที่นี่



 

ช่วงลดราคาสินค้าในญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่น จะมีช่วงลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ปีละ 2 ครั้ง คือ ในฤดูร้อน และฤดูหนาว
สินค้าจะราคาถูกลงมากๆ เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ช้อปปิ้งในราคาสุดคุ้ม

●ช่วงลดราคาในฤดูร้อน ⇒ ปลายมิถุนายน - ต้นกรกฎาคม (ห้างสรรพสินค้าจะเริ่มทยอยลดราคาตั้งแต่ช่วงต้นกรกฎาคม)
●ลดราคาในฤดุหนาว ⇒ ต้นเดือนมกราคม


บางครั้งก็มีการลดราคาสินค้าในฤดูใบไม้ผลิ (ปลายมีนาคม - เมษายน) และในฤดูใบไม้ร่วง (ปลายกันยายน - ตุลาคม) ด้วยเช่นกัน

ช่วงลดราคาต้อนรับปีใหม่ เริ่มกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม แนะนำให้ลองช้อป "ถุงโชคดี" (Lucky Bag)* กลับบ้านกัน
*ถุงโชคดี (Lucky Bag) คือ ถุงที่มีสินค้าหลากหลายชนิดอยู่ข้างใน ต้องซื้อก่อนถึงจะเปิดดูได้ว่าข้างในมีอะไรบ้าง มูลค่าสินค้าในถุงรวมแล้วคุ้มแสนคุ้มเกินราคาปกติ คนญี่ปุ่นจึงพากันไปเข้าแถวรอซื้อถุงโชคดีกันตั้งแต่เช้าตรู่

ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

Point1

ใช้คูปองกันเถอะ
ถ้าใช้คูปองจาก Free paper หรือ แอพฯต่างๆละก็ เราจะได้รับส่วนลด หรือ ของขวัญต่างๆด้วย

Point2

ถ้าต้องการของฝาก แนะนำให้ซื้อที่ร้านร้อยเยน หรือ ร้านขายยา
ร้านร้อยเยนมีสินค้าหลากชนิดให้เลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นของกิน เช่น ขนมรสชาเขียว ไปจนถึงเครื่องใช้ในครัวสารพัดประโยชน์ สินค้ามีดีไซน์สวยเก๋ และใช้งานได้ดี แต่ถ้าต้องการซื้อเครื่องสำอาง โฟมล้างหน้า หรือยาญี่ปุ่น ขอแนะนำให้ซื้อที่ร้านขายยา

Point3

สามารถซื้อสินค้าเมดอินเจแปน (Made in Japan) ได้ถูกว่าซื้อในไทย
ส่วนใหญ่พวกนาฬิกาข้อมือ, รองเท้า รวมถึงอาหารที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น ถ้ามาซื้อที่ญี่ปุ่นจะถูกกว่าไทย ดังนั้นถ้ามีของที่อยากได้ ควรเช็คราคาจากไทยก่อนเดินทาง (ขึ้นกับบริษัท, สินค้า, อัตราแลกเปลี่ยนด้วย)

เที่ยวชม

ท่องเที่ยวยามค่ำคืน

ร้านต่างๆ ในญี่ปุ่นมักปิดบริการเร็ว จึงควรเช็คข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวช่วงกลางคืนมาให้ดี ประเทศญี่ปุ่นมีความปลอดภัย แต่การเข้าออกสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืนในบางแห่งก็ควรระมัดระวัง

มังงะคิสสะ, อินเทอร์เน็ตคาเฟ่/ マンガ喫茶・インターネットカフェ (Manga Kissa, Internet Cafe)
เป็นร้านที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต อ่านหนังสือการ์ตูนได้อย่างไม่จำกัด ฯลฯ โดยส่วนมากจะมีบริการกาแฟหรือเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้ดื่มได้อย่างไม่จำกัด สามารถใช้บริการคอมพิวเตอร์ เกม โทรทัศน์ ดีวีดี ฯลฯ ได้ มีที่นั่งให้เลือกหลายแบบ เช่น แบบห้องส่วนตัวสำหรับหนึ่งคน ที่นั่งคู่สำหรับสองคน ฯลน นอกจากนี้บางร้านยังมีบริการอื่น ๆ เช่น บิลเลียด ปาเป้า ห้องอาบน้ำ เครื่องนวดไฟฟ้า ฯลฯ อีกด้วย ร้านจะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงโดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมง และจำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตหรือเอกสารยืนยันตัวตนอื่น ๆ ในการเข้าร้าน

เกมเซ็นเตอร์/ ゲームセンター (Game Center)
นอกจากจะมีเกมวิดีโอ เกมเพลงแล้ว ยังมี “เครื่องถ่ายสติกเกอร์ (ปุริคุระ)” ที่สามารถถ่ายภาพออกมาเป็นสติกเกอร์ได้เลย มี “กาจาปอง” หรือเครื่องหมุนหยอดเหรียญ ที่เมื่อหมุนคันโยกแล้วก็จะมีแคปซูลใส่ของเล่นตกลงมา เป็นต้น นอกจากนี้ มีร้านจำนวนมากที่ขายเกมอนิเมะที่เป็นที่นิยม รวมถึงของเล่นที่เกี่ยวกับเกมเหล่านั้นด้วย

คาราโอเกะบ็อกซ์/ カラオケボックス (Karaoke Box)
เป็นร้านที่ให้บริการ “คาราโอเกะ” สามารถร้องเพลงเป็นกลุ่มในห้องส่วนตัวได้ ปัจจุบันมีร้านที่ใช้ระบบ IT ทำให้มีเพลงกว่าหลายแสนเพลงไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี หรือ ภาษาจีน ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการจะขึ้นอยู่กับเวลาและจำนวนคน และยังมีบริการอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย

เซนโต (โรงอาบน้ำสาธารณะ)/ 銭湯 (Sento)
โรงอาบน้ำสาธารณะของญี่ปุ่นจะแยกชายหญิง ทั้งห้องเปลี่ยนชุดและห้องอาบน้ำ โดยผู้เข้าใช้บริการจะถอดเสื้อผ้าออกในห้องเปลี่ยนชุดแล้วจึงเข้าไปยังห้องอาบน้ำ โดยปกติแล้วผู้ใช้บริการจะต้องนำสบู่ แชมพู ผ้าเช็ดตัว มาเอง แต่ก็มีบริการให้เช่าหรือให้ซื้ออยู่ ราคาค่าใช้บริการโรงอาบน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 400 เยน ใน “เซนโต” ที่มีมาตั้งแต่อดีตอาจมีภาพวาด เช่น ภาพภูเขาไฟฟูจิ อยู่ที่ผนังห้องอาบน้ำด้วย นอกจากนี้ยังมี “ซุปเปอร์เซนโต” ซึ่งเป็นเซนโตขนาดใหญ่ที่มีอ่างอาบน้ำหลายอัน มีซาวน่า รวมถึงบริการเสริมความงามด้วย โดยมีค่าใช้บริการตั้งแต่ 1000 เยนถึงประมาณ 3000 เยน และยังมีอ่างอาบน้ำบางส่วนที่สามารถเข้าร่วมกันทั้งชายหญิงได้โดยใส่ชุดว่ายน้ำด้วย

ออนเซ็น/ 温泉 (Onsen)
ปัจจุบัน ในประเทศญี่ปุ่นมีออนเซ็นอยู่กว่า 3000 แห่ง คนญี่ปุ่นชอบออนเซ็นมาก และมีการท่องเที่ยวที่เพื่อไปออนเซ็นเป็นจำนวนมากเช่นกัน ในระยะหลังนี้เทคโนโลยีการขุดเจาะได้พัฒนาขึ้น ทำให้มีสถานที่ที่สามารถสนุกกับออนเซ็นภายในตัวเมืองเพิ่มมากขึ้นด้วย การเข้าพักในเรียวคัง (ที่พักสไตล์ญี่ปุ่น) เพื่อสนุกกับออนเซ็นและบริการอาหารไปพร้อมๆ กันเป็นการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น แต่ก็มีการไปใช้บริการออนเซ็นเพียงอย่างเดียวแบบไปเช้าเย็นกลับเป็นจำนวนมากเช่นกัน มีเมืองจำนวนมากที่มีเรียวคัง สถานบันเทิง ร้านของที่ระลึก ฯลฯ รวมกันอยู่ เราเรียกเมืองเหล่านี้ว่า “เมืองออนเซ็น” เช่น คุสัทสึ (Kusatsu), อาตามิ (Atami), เบปปุ (Beppu) เป็นเมืองออนเซ็นหลัก ในทางกลับกันก็มีแหล่งออนเซ็นที่มีเฉพาะเรียวคังเพียงหลังเดียวหรือไม่กี่หลังเช่นกัน

ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว

ที่ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวจะมีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว, ที่พัก, ข้อมูลอีเว้นท์ต่างๆ รวมทั้งยังมีแผนที่ หรือ แผ่นพับเตรียมไว้ให้ด้วย  บางแห่งสามารถให้บริการในหลายภาษา อย่างที่ตึกที่ว่าการมหานครโตเกียว เขามีบริการไกด์รองรับหลายภาษา ในราคาย่อมเยา

ที่พัก

ข้อแตกต่างของโรงแรม, เรียวกัง และมินชุกุ

"โรงแรม" คือ ที่พักที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกแบบตะวันตก

"เรียวกัง" จะมีตัวอาคารและเครื่องอำนวยความสะดวกแบบญี่ปุ่น และมีการดูแลต้อนรับผู้มาเยือนในแบบวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ทั้งนี้เรียวกังบางแห่งมีทั้งห้องพักแบบญี่ปุ่น, บ่อน้ำแร่ออนเซ็น และบริการเสิร์ฟอาหารถึงห้องพัก

"มินชุกุ"  คือ ที่พักที่มีขนาดเล็กและราคาถูกกว่าเรียวกัง มักเป็นกิจการส่วนตัว และแต่ละแห่งก็จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามเจ้าของ เพราะว่ามีขนาดเล็กและเป็นกันเอง ทำให้สามารถสร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อนนักเดินทางและเจ้าของมินชุกุได้ ที่นี่จึงได้รับความนิยม

วิธีสวมชุดยูกาตะ

ที่เรียวกัง ในแต่ละห้องจะมีชุดยูกาตะเตรียมไว้ให้เปลี่ยน เราสามารถใส่ชุดยูกาตะไปรับประทานอาหาร, แช่ออนเซ็น หรือ จะใส่ชุดยูกาตะนอนอย่างนั้นเลยก็ได้ โดยวิธีการสวมของหญิงและชายจะต่างกันเล็กน้อย เราลองมาเรียนรู้วิธีใส่ชุดยูกาตะให้ดูดีกันเถอะ

บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 06/01/2016