- TOP
- ข้อมูลน่ารู้
- เส้นทางรถไฟ
เส้นทางรถไฟ
รถไฟ รถไฟฟ้า
ประเภทของรถไฟในญี่ปุ่น
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีความพัฒนาด้านระบบทางเดินรถไฟ ดังนั้นเกือบทุกเขตพื้นที่จึงถูกเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายด้วยเส้นทางรถไฟ มีตารางเวลาที่แน่นอน และรถไฟเข้าออกตรงตามเวลา ในพื้นที่นอกเขตใจกลางเมืองนั้น อาจจะมีจำนวนเส้นทางรถไฟน้อย และเวลารถไฟเที่ยวสุดท้ายวิ่งหมดเร็ว ในช่วงวันหยุดต่อเนื่อง อาจสำรองที่นั่งได้ลำบากเนื่องจากมีผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก ส่วนในเขตใจกลางเมืองนั้น มีความแออัดมากจนแทบขยับร่างกายไม่ได้ในช่วงเวลาที่ผู้คนเดินทางไปทำงานในช่วงเช้า และกลับจากที่ทำงานในช่วงเย็นของวันปกติ
เส้นทางรถไฟในประเทศญี่ปุ่นนั้น ประกอบด้วยเส้นทางรถไฟของ JR group (รวมถึงรถไฟชินคันเซ็น) ซึ่งเป็นอดีตการรถไฟแห่งชาติของญี่ปุ่น และเส้นทางรถไฟเอกชน ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ได้แก่ รถไฟใต้ดินของซัปโปโร, เซนได, พื้นที่รอบโตเกียว, นาโกย่า, เกียวโต, โอซาก้า, โกเบ, ฮิโรชิม่า และฟุกุโอกะ นอกจากนั้น เส้นทางรถไฟยังถูกแบ่งออกเป็น โมโนเรล โรปเวย์ และรถรางอีกด้วย ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากในการเปลี่ยนรถไฟ หรือ ซื้อบัตรโดยสาร ดังนั้นเราควรทำการตรวจสอบให้ดีตอนวางแผนการเดินทาง
เส้นทางขนส่ง
ในการค้นหาข้อมูลจุดหมายปลายทาง ควรทำการค้นหาข้อมูลรถไฟที่จะขึ้น และที่จะเปลี่ยนรถเอาไว้ล่วงหน้า
HyperDia
Navitime
บัตรโดยสาร
ประเภทของรถไฟ และค่าโดยสาร
กลุ่ม JR ถูกแบ่งออกเป็น 6 บริษัทตามเขตพื้นที่ ได้แก่ Hokkaido, East, Central, West, Shikoku และ Kyushu ถ้าเป็นเส้นทางรถไฟภายในบริษัท JR ก็จะคำนวณค่าโดยสารร่วมกัน และแต่ละบริษัทอาจมีการจำหน่ายบัตรส่วนลดพิเศษเฉพาะเขตพื้นที่ของตัวเองด้วย นอกจากนั้นยังมีส่วนลดสำหรับกรณีทีโดยสารรถไฟชินคันเซ็นกับเส้นทางรถไฟสายอื่นๆของ JR (ที่เรียกว่า ไซไรเซ็น) อีกด้วย
ในการโดยสารรถไฟชินคันเซ็น หรือ รถไฟแบบด่วนพิเศษของ JR นั้น จะต้องเสีย "ค่ารถด่วนพิเศษ" เพิ่ม และถ้าต้องการระบุตำแหน่งที่นั่ง จะต้องเสีย "ค่าสำรองที่นั่ง" เพิ่มด้วย สำหรับในกรณีของรถไฟเอกชนนั้น หากเป็นรถไฟที่วิ่งระยะสั้น แม้จะมีป้ายระบุว่า ด่วนพิเศษ หรือ ด่วน ก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้วจะสามารถขึ้นได้โดยใช้เพียงบัตรโดยสารเท่านั้น แต่ถ้าเป็นรถไฟด่วนพิเศษที่วิ่งในระยะยาว อย่างสาย Kintetsu, สาย Tobu Railway และสาย Odakyu นั้น จำเป็นต้องมีบัตรโดยสารแบบด่วนพิเศษเพิ่ม ควรตรวจสอบรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ของสถานีรถไฟ
นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีการเรียกชื่อรถไฟตามจำนวนสถานีที่จอดในแต่ละเส้นทางการเดินรถด้วย คือ Limited Express (ด่วนพิเศษ จอดสถานีใหญ่ๆเท่านั้น), Rapid Express (ด่วนมาก), Express (ด่วน), Semi Express (กึ่งด่วน) และ Local (จอดทุกสถานี) โดยแต่ละประเภทจะมีเวลารถไฟมาถึง และสถานีที่จอดแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตาม แต่ละบริษัทรถไฟมีการนิยาม และเรียกชื่อประเภทแตกต่างกันออกไป ต้องระมัดระวังให้ดี
การซื้อบัตรโดยสาร และการตรวจบัตรโดยสาร
บัตรโดยสารไปยังสถานที่ต่างๆ (ภายในระยะทางประมาณ 100 กม.) ที่ถูกแสดงบนป้ายประกาศ และปรากฎบนหน้าจอเครื่องจำหน่ายบัตรนั้น เราสามารถซื้อผ่านเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติได้ โดยตรวจสอบค่าโดยสารไปยังสถานีปลายทาง กดปุ่มราคาค่าโดยสารนั้น แล้วใส่เงินที่จำนวนที่ต้องการ จากนั้นจะได้รับบัตร เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติที่ให้บริการเป็นภาษาอังกฤษนั้น จะติดตั้งอยู่ในสถานีต่างๆของเมืองใหญ่ๆ นอกจากนี้บัตรโดยสารสำหรับการเดินทางระยะไกลสามารถซื้อได้ที่เคาน์เตอร์บริการ โดยแจ้งปลายทางเป็นอันดับแรก (ตัวอย่าง ประตูคามินาริมง อาซากุสะ, วัดคินคาคุจิ เกียวโต) เป็นอันดับแรก แล้วตามด้วยเวลาที่ต้องการเดินทางไปถึง ณ เคาน์เตอร์บริการ และการซื้อบัตรโดยแจ้งเฉพาะชื่อสถานี อาจเกิดความผิดพลาดได้ เพราะสถานีที่แจ้งอาจไม่ได้อยู่ใกล้สถานที่ที่จะไป หรือ รถไฟแบบด่วนพิเศษไม่จอด เป็นต้น ในประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องปกติที่จะมีการแนะนำเส้นทางรถไฟของบริษัทอื่น หากเส้นทางนั้นเป็นเส้นทางที่เหมาะสม
วิธีการซื้อบัตรโดยสารรถไฟ JR
วิธีการซื้อบัตรโดยสารรถไฟใต้ดิน
สำหรับรถไฟใต้ดิน อาจมีกรณีที่เส้นทางรถไฟของบริษัทนึงวิ่งเชื่อมต่อกับทางรถไฟของบริษัทอื่น ในกรณีดังกล่าวให้กดปุ่ม Connecting Line แล้วกดปุ่มชื่อเส้นทางการเดินรถ และชื่อสถานี ก็จะสามารถซื้อบัตรโดยสารในราคาพิเศษได้ เช่น เมื่อใช้บริการของ Tokyo Metro ร่วมกับรถไฟใต้ดินเอกชน Toei Subway หรือ รถไฟใต้ดินเอกชน Toei Subway ร่วมกับรถไฟเอกชนสายอื่น ให้กดปุ่ม "Connecting Line" แล้วจะสามารถซื้อตั๋วเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางนั้นๆได้
ส่วนวิธีชำระเงิน ให้ใส่เงินทางด้านล่างของเครื่องจำหน่ายบัตร ระวังช่องใส่ธนบัตรและช่องใส่เหรียญอยู่แยกกัน
IC Card
บัตร IC Card เป็นบัตรโดยสารที่สามารถบันทึกข้อมูล จำหน่ายโดยบริษัทรถไฟแต่ละแห่ง มีการบันทึกประวัติการขึ้นลงรถไฟ และเส้นทางที่ใช้บริการ เป็นต้น ในกรณีของระยะทางสั้นๆ หากชาร์จเงินในบัตรล่วงหน้า ก็จะสามารถขึ้น-ลงรถโดยไม่ต้องซื้อตั๋วเงินสด ในกรณีที่ขึ้นรถไฟแล้วแต่ยอดเงินในบัตรไม่เพียงพอ หลังจากลงรถไฟ เราสามารถเติมเงินได้ที่เครื่องปรับค่าโดยสาร ก่อนผ่านประตูตรวจบัตรโดยสารออกไป ขอบเขตในการใช้บริการนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท
บัตร IC card สำหรับการคมนาคมในโตเกียว เช่น บัตร Suica ของบริษัท JR East หรือ บัตร PASMO ของบริษัทรถไฟเอกชนในโตเกียวนั้น สามารถใช้ร่วมกันได้ และยังสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น โดยมีการขยายขอบเขตการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี
เวลาซื้อสามารถเลือกได้ว่าต้องการแบบระบุชื่อเจ้าของบัตรหรือไม่ระบุชื่อ ในกรณีที่เป็นแบบระบุชื่อ จะมีการบันทึกข้อมูลส่วนบุคลไว้ เราจึงสามารถออกบัตรใหม่ได้อีกครั้งถ้าทำหาย นอกจากนั้นแล้ว เวลาซื้อบัตรนี้จะมีค่ามัดจำ (Deposit) ด้วย แต่จะได้รับคืนเมื่อคืนบัตร เราสามารถซื้อ, ขอออกบัตรใหม่ และคืนบัตร ได้ที่เคาน์เตอร์สีเขียวของบริษัทในเครือ JR หรือ ที่สถานีรถไฟใต้ดิน หรือ รถไฟเอกชน ตามแต่บริษัทที่ออกบัตร
แนะนำบัตร IC card ทั่วประเทศญี่ปุ่น
ในประเทศญี่ปุ่นมีบัตร IC card อยู่ 10 ประเภท ซึ่งสามารถใช้ร่วมกันได้ภายในแต่ละเขตพื้นที่
Kitaca (JR ฮอกไกโด), Pasmo (รถไฟเอกชน, รถไฟใต้ดิน และรถบัสในโตเกียว), Suica (JR East และอื่นๆ), manaca (รถไฟนาโกย่า, รถไฟโทโยฮาชิ, รถบัสเมเท็ตซึ, รถไฟใต้ดินและรถบัสที่ดำเนินการโดยเมืองนาโกย่า), TOICA (JR Central), PiTaPa (รถไฟเอกชน และรถไฟใต้ดินในเขตคันไซ, เขตโอกายาม่า, และอื่นๆ), ICOCA (JR West), Hayakaken (รถไฟใต้ดิน และรถบัสที่ดำเนินการโดยเมืองฟุกุโอกะ), nimoca (รถไฟและรถบัสนิชิเท็ตซึ), SUGOCA (JR คิวชู)
*อย่างไรก็ตาม บัตรของแต่ละบริษัทไม่สามารถใช้ข้ามเขตบริการยาวๆได้
ตัวอย่าง ไม่สามารถใช้บัตร IC card เพียง 1 ใบ เดินทางระยะยาวจากนาโกย่ามายังโตเกียวได้ แต่สามารถนำบัตรนั้นๆใช้เดินทางในโตเกียวได้
วิธีการใช้บัตร IC card
บัตร IC card นั้นไม่ได้เป็นเพียงแต่บัตรโดยสารรถไฟอย่างเดียว แต่ยังเป็นบัตรเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถใช้ได้กับ รถบัส, รถแท็กซี่, ตู้ล็อคเกอร์หยอดเหรียญ, ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ, ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าภายในสถานีรถไฟที่มีเครื่องอ่านบัตร IC card เราสามารถเติมเงินได้ที่จุดจำหน่ายบัตรโดยสาร
วิธีการเติมเงิน
①*ในตัวอย่างนี้เป็นการซื้อบัตร PASMO
②เมื่อเมนูปรากฎขึ้น ให้เลือกกดปุ่ม "Purchase new PASMO" หรือ "Charge"
*ค่ามัดจำจะได้รับคืนเมื่อคืนบัตร โดยสามารถคืนบัตรได้ที่เคาน์เตอร์
การโดยสารรถไฟ และวิธีการเปลี่ยนรถไฟ
1.การผ่านจุดตรวจบัตรโดยสาร
ให้สังเกตป้ายบอกทางสายรถไฟสายที่ต้องการจะโดยสาร และเดินตามทิศทาง ↑ ที่อยู่บนป้าย
*โปรดระวังเครื่องตรวจบัตรที่ไว้สำหรับตั๋วกระดาษโดยเฉพาะ และเครื่องตรวจบัตร IC Card โดยเฉพาะ
เมื่อลงรถไฟ หรือ เปลี่ยนรถไฟ แล้วต้องเดินผ่านเครื่องตรวจบัตร ให้เราทำในลักษณะเดียวกันกับตอนเข้า เมื่อถึงสถานีจุดหมายแล้ว บัตรโดยสารจะถูกเก็บคืน ถ้าต้องเปลี่ยนรถไฟ ให้ใช้จุดตรวจบัตรสำหรับเปลี่ยนรถไฟโดยเฉพาะเท่านั้น แล้วบัตรโดยสารจะกลับออกมาอีกครั้ง นอกจากนี้ บัตรเดย์พาส, บัตรแบบเชื่อมต่อเส้นทาง หรือ บัตรแบบได้ส่วนลด ก็จะกลับออกมาเช่นกัน โปรดอย่าลืมหยิบตั๋วคืน
หากยอดเงินไม่เพียงพอ และไม่สามารถผ่านจุดตรวจบัตรโดยสารไปได้ ให้ไปที่เครื่องปรับราคาบัตรโดยสาร โดยใส่ตั๋วและจำนวนเงินที่ขาดเข้าไปในเครื่อง ถ้าเป็นตั๋วกระดาษ เมื่อการปรับราคาบัตรแล้ว เราจะได้รับตั๋วใหม่ ส่วนบัตร IC Card นั้น เมื่อเติมเงินให้มากกว่า (หรือเท่ากับ) ยอดเงินที่ขาดไปก็จะสามารถผ่านออกไปได้ หากไม่พบเครื่องปรับราคาตั๋ว หรือไม่ค่อยเข้าใจวิธีการ กรุณาสอบถามเจ้าหน้าที่ประจำสถานี
2.การขึ้น และลงรถไฟ
3.การเปลี่ยนรถไฟ
การเปลี่ยนรถไฟนั้นมีทั้งกรณีออกจากจุดตรวจบัตรหนึ่งเพื่อไปเข้าอีกจุดตรวจหนึ่ง (ตรวจบัตร 2 ครั้ง) และกรณีออกจากจุดตรวจบัตรสำหรับเปลี่ยนรถไฟโดยเฉพาะ (ตรวจบัตรครั้งเดียว) ในกรณีที่บัตรแบบเชื่อมต่อเส้นทาง หรือ บัตรแบบได้ส่วนลด ต้องระวังไม่เข้าผิดช่อง ถ้าไม่เดินผ่านจุดตรวจตั๋วสำหรับเปลี่ยนรถไฟโดยเฉพาะ อาจจะไม่ได้รับส่วนลด
③ประตูสำหรับใช้เปลี่ยนรถไฟนั้น มีทั้งแบบมีตรวจตั๋วและไม่ตรวจตั๋ว ในกรณีที่มีจุดตรวจตั๋ว ให้สอดตั๋วกระดาษ หรือ ตั๋วรถไฟด่วนพิเศษในเครื่องตรวจบัตร ถ้าเป็นบัตร IC Card ให้ใช้วิธีแตะบัตร
บัตรโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว (เดย์พาส)
โตเกียว
บัตร Tokyo 1-Day Free Ticket
ตั๋วโตเกียวเมโทรประเภท 24 ชั่วโมง
บัตร Tokunai Pass
บัตร 1-Day Pass สำหรับใช้ร่วมกันระหว่างรถไฟใต้ดิน Tokyo Metro และรถไฟใต้ดิน Toei
บัตร 1-Day Pass สำหรับสาย Yurikamome
โอซาก้า
บัตร 1-Day Pass (Enjoy eco card)
บัตร Osaka Amazing Pass (บัตร 1-Day Pass/ 2-Day Pass)
บัตร Kansai Thru Pass แบบ 3 วัน
รถไฟชินคันเซ็น
ข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟชินคันเซ็น
เส้นทางรถไฟชินคันเซ็น
รถไฟชินคันเซ็นเป็นรถไฟด่วนพิเศษที่ดำเนินการโดยบริษัทในเครือ JR และมีเส้นทางรถไฟพิเศษเฉพาะสำหรับรถไฟชินคันเซ็น สำหรับ Akita Shinkansen (อาคิตะ – โตเกียว) และ Yamagata Shinkansen (ยามากาตะ –โตเกียว) ในส่วนที่แตกแขนงออกมาจากโทโฮคุชินคันเซ็น (Tohoku Shinkansen) ที่ใช้เส้นทางเดียวกับทางรถไฟสายไซไรเซ็น (Zairaisen) นั้นในในทางปฏิบัติถือว่าเป็นรถไฟชินคันเซ็น
ประเภทของรถไฟชินคันเซ็น และค่าบริการ
มีรถไฟชินคันเซ็นประเภทที่จอดเฉพาะสถานีหลักๆ และประเภทที่จอดทุกสถานี รถไฟแต่ละประเภทมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น รถไฟโทไคโดชินคันเซ็น (Tokaido Shinkansen) เรียกรถไฟความเร็วสูงสุดว่า “โนโซมิ (Nozomi)”, เรียกรถไฟที่จอดในสถานีเดียวกับรถไฟโนโซมิและอีกหลายๆสถานีว่า “ฮิคาริ (Hikari)”, และเรียกรถไฟที่จอดทุกสถานีว่า “โคดามะ (Kodama)”
โดยแต่ละประเภทจะมีค่าโดยสารและความแออัดแตกต่างกันออกไป สามารถเลือกได้ตามจุดหมายปลายทางและกำหนดการของท่าน นอกจากนี้ ต้องระวังว่าบัตร JAPAN RAIL PASS ไม่สามารถใช้โดยสารรถไฟ “โนโซมิ (Nozomi)” ของโทไคโดชินคันเซ็น (Tokaido Shinkansen) และ “มิซุโฮะ (Mizuho)” ของคิวชูชินคันเซ็น (Kyushu Shinkansen)
แผนที่เส้นทางรถไฟชินคันเซ็น
วิธีการซื้อบัตรโดยสาร
①คำอธิบายวิธีการซื้อบัตรโดยสารรถไฟชินคันเซ็น
สิ่งอำนวยความสะดวกภายในรถไฟ
การหาที่นั่งบนรถไฟชินคันเซ็น โดยทั่วไปรถไฟชินคันเซ็นและรถไฟด่วนพิเศษของ JR จะแสดงหมายเลขแถวที่นั่ง และอักษร A, B, C … โดยนับจากทางหน้าต่าง ในหนึ่งตู้รถไฟจะมีประมาณ 10 – 20 แถว
ภายในรถไฟชินคันเซ็น ทั้งตู้ของที่นั่งระบุหมายเลข และที่นั่งแบบไม่ระบุหมายเลข ใน 1 แถวจะมี 5 ที่นั่ง นับจากหน้าต่างเป็น A, B, C คั่นด้วยทางเดิน แล้วเป็น D, E หมายเลขแถวจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับทิศทางที่รถไฟวิ่ง บางครั้งหมายเลข 1 อาจจะเป็นแถวสุดท้าย ส่วนตู้ Green Car ใน 1 แถวจะมี 4 ที่นั่ง คือ A, B คั่นด้วยทางเดิน และ C, D ส่วนขบวนตู้ในชั้นแกรนคลาสจะมีรูปแบบพิเศษ ซึ่งจะมีตำแหน่งที่นั่งแตกต่างออกไป
ที่นั่งของรถไฟชินคันเซ็นจะมีปลั๊กไฟ (ยกเว้นรถไฟบางขบวน) ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น แบบที่มีปลั๊กไฟทุกที่นั่ง หรือ แบบปลั๊กไฟทางฝั่งหน้าต่างเท่านั้น ขึ้นอยู่กับรุ่นของรถไฟ และทุกที่นั่งเป็นสามารถปรับเอนหลังได้ ในรถ Green Car ยังมีที่พักเท้าด้วย ส่วนที่นั่งในชั้นแกรนคลาสนั้น สามารถปรับเอนหลังด้วยระบบไฟฟ้า
รถไฟชินคันเซ็นทุกตู้รถไฟจะมีห้องน้ำ, ห้องน้ำสำหรับเก้าอี้รถเข็น, อ่างล้างหน้า, โทรศัพท์ AED, ถังขยะ, จุดให้นมทารก, ที่เปลี่ยนผ้าอ้อม และห้องพนักงานบริการบนรถไฟ รถไฟชินคันเซ็นนั้น ปกติแล้วเป็นรถไฟปลอดบุหรี่ทุกที่นั่ง จึงมีห้องสูบบุหรี่ติดตั้งไว้ อีกทั้งยังมีอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายภายในรถไฟ (แต่รถไฟบางขบวนนั้นไม่มีจำหน่าย เช่น "โคดามะ (Kodama)" ของสายโทไคโดชินคันเซ็น (Tokaido Shinkansen))
ภายในรถไฟชินคันเซ็น มีห้องน้ำไว้บริการผู้โดยสาร โดยจะอยู่ที่ตู้รถไฟหมายเลขคี่ และบางขบวนอาจแยกห้องน้ำชาย-หญิง แม้ห้องน้ำส่วนหนึ่งจะเป็นแบบญี่ปุ่น (นั่งยอง) แต่ขบวนรถไฟใหม่ๆ จะเป็นแบบตะวันตก (โถส้วม) และยังมีห้องน้ำสำหรับรถเข็น ซึ่งมีประตูอัตโนมัติให้บริการอีกด้วย
เจแปนเรลพาส (JAPAN RAIL PASS)
เกี่ยวกับเจแปนเรลพาส (JAPAN RAIL PASS)
คุณสมบัติของผู้ใช้บริการ
(1) เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนญี่ปุ่น โดยพำนักอาศัยในประเทศญี่ปุ่นเพียงระยะสั้นเพื่อการท่องเที่ยว
(2) บุคคลที่มีสัญชาติญี่ปุ่น แต่พำนักอาศัยนอกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
a. ต้องได้สิทธิพำนักอาศัยถาวรในประเทศเหล่านั้น
b. สมรสกับชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักอาศัยนอกประเทศญี่ปุ่น
ประเภทรถไฟ และค่าบริการ
สำหรับใช้กับรถไฟ Green cars ⇒ ผู้ใหญ่: ระยะเวลา 7 วัน 38,880 เยน, ระยะเวลา 14 วัน 62,950 เยน, ระยะเวลา 21 วัน 81,870 เยน
สำหรับใช้กับรถไฟธรรมดา ⇒ ผู้ใหญ่: ระยะเวลา 7 วัน 29,110 เยน, ระยะเวลา 14 วัน 46,390 เยน, ระยะเวลา 21 วัน 59,350 เยน
ขอบเขตในการใช้บริการ
สามารถนั่งรถไฟชินคันเซ็นของบริษัทในเครือ JR ทุกสาย (ยกเว้น รถไฟขบวน “โนโซมิ (Nozomi)”, “มิซูโฮะ (Mizuho)” (รวมถึงที่นั่งแบบไม่ต้องจองในขบวนเหล่านี้ด้วย)), นั่งรถไฟ Limited Express, Express, Semi Express, รถไฟธรรมดา และ BRT (รถไฟบางส่วนอยู่นอกเงื่อนไข) ได้
*สามารถใช้โตเกียวโมโนเรลได้อีกด้วย
*รถไฟ Aoimori (วิ่งระหว่าง Aomori - Hachinohe) (*เฉพาะการเดินทางผ่านระหว่าง Hachinohe - Aomori, Aomori - Noheji และ Hachinohe - Noheji ด้วยรถไฟ Local หรือ Rapid Express นอกจากสถานี Aomori, Noheji และ Hachinohe แล้ว การลงรถไฟที่สถานีอื่นในเส้นทางรถไฟสาย Aoimori อยู่นอกเหนือเงื่อนไข)
*รถไฟ IR Ishikawa (ระหว่าง Kanazawa – Tsubata) (*เฉพาะการเดินทางผ่านระหว่าง 2 สถานีนี้ด้วยรถไฟ Local หรือ Limited Express เท่านั้น) ไม่สามารถลงรถไฟที่สถานีอื่นบนเส้นทางรถไฟสายนี้ นอกจากสถานี Kanazawa และ Tsubata ได้
*รถไฟ Ainokaze Toyama (ระหว่าง Toyama – Takaoka) (*เฉพาะการเดินทางผ่านระหว่างสองสถานีนี้ด้วยรถไฟ Local เท่านั้น ไม่สามารถลงรถไฟที่สถานีอื่นบนเส้นทางรถไฟสายนี้ นอกจากสถานี Toyama และ Takaoka ได้)
*ในการเดินทางผ่านเส้นทางของบริษัทรถไฟเอกชนที่มีการเดินรถเชื่อมต่อกับรถไฟ JR โดยตรง อาจมีค่าบริการ, ค่าโดยสารเพิ่มเติม
รถบัสของบริษัท JR สาย Local แต่ละสาย (บางสายอยู่นอกเงื่อนไข และอาจมีการมีแปลงเส้นทางที่สามารถโดยสารได้)
*รถบัสของบริษัท JR ได้แก่ JR Hokkaido Bus, JR Bus Tohoku, JR Bus Kanto, JR Tokai Bus, Nishinippon JR Bus, Chugoku JR Bus, JR Shikoku Bus, JR Kyushu Bus
*ไม่สามารถโดยสารรถบัสด่วนพิเศษของบริษัท JR Bus แต่ละพื้นที่, เรือเฟอร์รี่ JR Nishinipon Miyajima Ferry (Miyajima - Miyajimaguchi)
*ไม่สามารถใช้บริการ Jetfoil ระหว่าง Hakata – Busan (เกาหลีใต้) ของ JR Kyushu Jet Ferry
ข้อควรระวังขณะใช้บัตร
วิธีการซื้อ
เนื่องจากไม่สามารถซื้อได้ในประเทศญี่ปุ่น ก่อนมาญี่ปุ่นควรซื้อตั๋ว Exchange Order จากตัวแทนจำหน่ายดังต่อไปนี้ JTB, Nippon Travel Agency, Kintetsu International, Tobu Top Tours, Japan Airlines*, All Nippon Ariways*, Jalpak และตัวแทนจำหน่ายนั้นๆ
วิธีการแลกบัตรโดยสาร
เมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่นแล้ว ให้นำตั๋ว Exchange Order ที่ซื้อมาจากไทย ไปแลกเป็น JAPAN RAIL PASS
JAPAN RAIL PASS จะมีจุดแลกบัตรโดยสารอยู่ตามสถานีหลักๆของสถานี JR ให้แสดง ตั๋ว Exchange Order และหนังสือเดินทาง พร้อมทั้งเอกสารแสดงคุณสมบัติของผู้ซื้อ แล้วเจ้าหน้าที่จะออกบัตรโดยสารให้
สถานที่แลกบัตรโดยสาร
การจองที่นั่ง
เมื่อนำตั๋ว Exchange Order ไปแลกเป็นบัตร JAPAN RAIL PASS แล้ว เราสามารถจองที่นั่งรถไฟได้ที่เคาน์เตอร์สีเขียวของ JR ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับการจองที่นั่ง ในการจองที่นั่งก่อนอื่นให้แสดงบัตร JAPAN RAIL PASS ที่ศูนย์บริการการท่องเที่ยวของสถานี JR, เคาน์เตอร์สีเขียว หรือ บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวที่ JR กำหนด เพื่อออกบัตรโดยสารแบบระบุที่นั่ง
*สำหรับที่นั่งแบบไม่ระบุหมายเลขนั้น สามารถใช้บริการได้โดยแสดงบัตร JAPAN RAIL PASS ส่วนการใช้บริการรถไฟบางประเภท จะต้องเสียค่าบริการพิเศษเพิ่มเติม เช่น ชินคันเซ็นขบวน “โนโซมิ (Nozomi)”, “มิซูโฮะ (Mizuho)”, ห้องส่วนบุคคล, รถนอน, Green Cars (ถ้าถือบัตร JAPAN RAIL PASS แบบ Green Cars สามารถใช้ได้เลย) หรือ รถในชั้นแกรนคลาส ทั้งนี้มีบางสถานีที่ไม่สามารถออกบัตรแบบระบุหมายเลขที่นั่งให้ได้ หรือ อาจเป็นสถานีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้บริการ
บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 21/09/2016