tr?id=1543387775907290&ev=PageView&noscript=1

การสื่อสารของญี่ปุ่น

  • icn_TW.png
  • icn_Gp.png

ข้อมูลเกี่ยวกับ "การสื่อสาร" ที่มีความสำคัญระหว่างที่อยู่ในญี่ปุ่น โปรดศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ "วิธีใช้ ATM", "ไปรษณีย์", "วิธีส่งพัสดุ", "ข้อมูลเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต" และ "วิธีการใช้โทรศัพท์" เพื่อความสะดวกระหว่างที่คุณอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

ไปรษณีย์ พัสดุไปรษณีย์

หากอยากส่งพัสดุ หรือ จดหมาย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประทับใจในญี่ปุ่นไปถึงครอบครัว, เพื่อน หรือ ตัวเอง ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์


 

วิธีเขียนไปรษณียบัตร จดหมาย

เขียนชื่อที่อยู่ผู้ส่งที่มุมซ้ายบน ส่วนชื่อและที่อยู่ของผู้รับจะอยู่มุมขวาล่าง ติดแสตมป์ที่มุมขวาด้านบน แล้วใช้ปากกาสีดำ หรือ น้ำเงินเขียน "VIA AIR MAIL"  ซื้อแสตมป์ หรือ ไปรษณีย์บัตรได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ หรือ ร้านสะดวกซื้อ หากไม่ทราบว่าต้องติดแสตมป์มูลค่าเท่าไหร่ ขอให้ไปส่งที่ทำการไปรษณีย์ แล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งราคา และช่วยจัดการเรื่องให้

 

วิธีส่ง

สามารถส่งไปรษณียบัตร หรือ จดหมายได้ที่ตู้ไปรษณีย์สีแดงที่พบได้ทั่วไป ถ้าตู้ไปรษณีย์มี 2 ช่องดังในภาพ ขอให้ใส่ไปรษณียบัตรหรือจดหมายที่จะส่งไปยังต่างประเทศในช่องขวา ไปรษณียบัตรขนาดปกติ (90 - 120 มม. x 140 - 235 มม.) ส่งทางอากาศ ราคา 70 เยน, ทางเรือ ราคา 60 เยน เท่ากันทุกประเทศ แต่ถ้าเป็นจดหมาย หรือ สิ่งอื่นๆ จะมีราคาแตกต่างกันตามประเทศปลายทาง ควรตรวจสอบและสอบถามก่อนส่ง

 

พัสดุ

ช้อปปิ้งเพลิน ของเยอะเกินจนขนกลับประเทศไม่ไหว ไม่รู้ว่าจะทำยังไงดี ใครพบปัญหานี้บ้างเอ่ย? นี่คือคำแนะนำเกี่ยวกับบริการขนส่ง คุณสามารถส่งสัมภาระโดยใช้บริการไปรษณีย์ หรือ บริษัทที่ให้บริการขนส่งได้
 


ไปรษณีย์ญี่ปุ่น
  • ​EMS
    ใช้เวลาประมาณ 2 - 7 วัน
     
  • พัสดุส่งทางอากาศ
    ใช้เวลาประมาณ 3 - 8 วัน
     
  • SAL
    การส่งพัสดุที่เร็วกว่าส่งทางเรือและราคาถูกกว่าส่งทางอากาศ โดยพัสดุจะถูกนำส่งทางเรือ ตอนอยู่ในญี่ปุ่นหรือภายในประเทศปลายทาง แต่จะเปลี่ยนเป็นนำส่งทางอากาศ ตอนส่งระหว่างประเทศ

    ใช้บริการนี้ได้ในบางประเทศ, ภูมิภาคเท่านั้น

    ใช้เวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์
     
  • พัสดุส่งทางเรือ
    ใช้เวลาประมาณ 1 - 3 เดือน
บริษัทให้บริการขนส่ง
จะนำของไปที่ศูนย์ส่ง หรือ เรียกให้พนักงานมารับของก็ได้ แต่โดยปกติแล้วพนักงานจะพูดได้แต่ภาษาญี่ปุ่น การส่งจากโรงแรมจึงสะดวกกว่า

วิธีเขียนใบส่ง EMS

EMS (การจัดส่งสิ่งของด่วนระหว่างประเทศ) จะใช้เวลาในการส่งสั้นที่สุด และมีการประกันสิ่งของสูญหาย หรือ เสียหาย
เงื่อนไขเกี่ยวกับขนาดและน้ำหนักนั้น แตกต่างกันไปตามประเทศปลายทาง จึงควรตรวจสอบก่อน ทั้งนี้ไม่สามารถส่งวัตถุอันตราย หรือ สิ่งของมีค่าได้



รายละเอียดของผู้ส่ง
1. ชื่อ
2. บ้านเลขที่ ถนน เขต เมือง จังหวัด
3. รหัสไปรษณีย์
4. หมายเลขโทรศัพท์, แฟกซ์
รายละเอียดของผู้รับ
5. ชื่อ
6. หมายเลขห้อง บ้านเลขที่ ถนน 
7. จังหวัด
8. รหัสไปรษณีย์
9. ประเทศ
10. หมายเลขโทรศัพท์ /แฟกซ์
รายละเอียด
11. ของที่ส่ง (ถ้าเป็นของใช้ส่วนตัว ให้ระบุด้วยว่า Personal Use )
12. เขียนรายละเอียดในกรณีที่ส่งเป็นพัสดุ (ไม่บังคับ)
13. จำนวน, น้ำหนัก, มูลค่า (ใส่หน่วยเงินข้างหน้าตัวเลขมูลค่า)
14. ทำเครื่องหมายกากบาทในข้อที่เข้าข่าย
15. ถ้าต้องการทำประกันความเสียหายมูลค่ามากกว่า 20000 เยน ขอให้ระบุจำนวนเงิน
16. ตรวจสอบว่าของที่ส่งไม่ใช่สิ่งของที่มีอันตราย แล้วทำเครื่องหมายกากบาท
17. ลงชื่อ

 

การทำเรื่องของที่ส่งแยกต่างหาก

กรอกคำว่า "ของที่ส่งแยกต่างหาก (Unaccompanied Baggage)" บนหีบห่อพัสดุ หรือ บนใบนำส่ง ในการส่งของไปต่างประเทศนั้น จำเป็นต้องใช้ใบศุลกากร แต่ในใบส่งพัสดุและใบนำส่ง EMS มีแนบให้อยู่แล้ว 2 ใบ จึงไม่จำเป็นต้องกังวล แต่กรณีที่ให้ร้านจำหน่ายสินค้าปลีกเป็นผู้ส่ง ควรขอให้ทางร้านระบุบนใบนำส่งว่าเป็น "ของที่ส่งแยกต่างหาก" ด้วย

 

ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ภาษาญี่ปุ่นที่ควรรู้

  • Ikura desu ka?:ราคาเท่าไหร่
  • Dono kurai de tsukimasu ka?:จะส่งไปถึงเมื่อไหร่ (ใช้เวลานานแค่ไหน)
  • Kitte:แสตมป์
  • - made okuritai desu:อยากส่งไปที่.....
     

วิธีเขียนที่อยู่ในญี่ปุ่น

ไม่ได้เริ่มจากบ้านเลขที่ แต่เขียนตามลำดับจากพื้นที่ใหญ่สุดคือ จังหวัด ไล่ลงไปถึง บ้านเลขที่

ตัวอย่าง จังหวัดโตเกียว > เขตจิโยดะ > โคจิมาจิซันโจเมะ > เลขที่
       จังหวัดคานากาว่า > เมืองคามาคุระ > ยุคิโนะชิตะ > นิโจเมะ > เลขที่

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจังหวัดของญี่ปุ่น



 

อินเตอร์เน็ต

โดยทั่วไป ที่ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หรือ โรงแรม จะมีคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการ แต่คีย์บอร์ดจะเป็นปุ่มแบบญี่ปุ่น และในตัวเมืองจะมีบริการ Wi-Fi ให้ใช้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นบริการฟรีตามโรงแรม, คาเฟ่ หรือ ตามสถานีรถไฟ แต่ต่างจังหวัดบางที่อาจจะมีความบกพร่องในบริการด้านนี้

อีเมล

ถ้าใช้ Wi-Fi เพื่อรับส่งอีเมลทางโทรศัพท์มือถือจะช่วยประหยัดค่าบริการในการรับส่งข้อมูลได้ หรือจะสร้างบัญชีอีเมลแบบฟรีเพื่อส่งอีเมลโดยใช้อินเตอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ก็ได้เช่นกัน



 

FREE Wi-Fi

ขอให้สังเกตสติกเกอร์ "Free Wi-Fi" หรือ ถ้ามีแอพฯในสมาร์ทโฟนที่สามารถค้นหาจุดสัญญาณ Wi-Fi ได้ก็จะสะดวกยิ่งขึ้น แต่ต้องดาวน์โหลดแอพฯเหล่านี้ก่อนจึงจะใช้งานได้ นอกจากค้นหาจุดสัญญาณ Wi-Fi แล้วยังสามารถค้นหาร้านค้าปลอดภาษีได้ด้วย
http://www.ntt-bp.net/jcfw/area/ja.html

 

ใช้ซิมการ์ดและเราท์เตอร์ Wi-Fi

การใช้อินเตอร์เน็ตที่ญี่ปุ่นด้วยบริการโรมมิ่งจะมีค่าบริการที่สูงมาก และถ้าคุณเจอปัญหา "เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตไม่ได้" หรือ "ไม่รู้ว่าจะต้องเชื่อมต่อที่ไหน" ขอแนะนำให้ใช้ซิมการ์ดแบบแพ็กเกจ หรือ เราท์เตอร์ Wi-Fi ที่จะช่วยให้คุณใช้อินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา โดยสามารถเช่าเราท์เตอร์ Wi-Fi หรือ สมาร์ทโฟนสำหรับใช้งานที่ญี่ปุ่นได้ที่สนามบินของประเทศคุณ หรือ จะมาเช่าที่ญี่ปุ่นก็ได้เช่นกัน คุณสามารถซื้อซิมการ์ดสำหรับใช้ที่ญี่ปุ่นได้ที่สนามบิน, ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งจะมีทั้งแบบเช่า และแบบเติมเงิน หรือ สามารถซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตแล้วค่อยไปรับตามสนามบินหรือที่อื่นๆ ก็ได้เช่นกัน
 

เช่าหรือซื้อซิมการ์ด, เราท์เตอร์ Wi-Fi, สมาร์ทโฟนเพื่อใช้ที่ญี่ปุ่นได้ที่นี่

อินเตอร์เน็ตคาเฟ่

อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ (มังงะคิสสะ) มักจะอยู่ใกล้กับสถานีหลักๆ หรือ สถานีใหญ่ๆ ในย่านต่างๆ ลูกค้าสามารถใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้ในพื้นที่ส่วนกลาง หรือ ห้องส่วนตัว
ค่าบริการ ประมาณ 400 เยนต่อชั่วโมง


 

โทรศัพท์

คุณสามารถโทรศัพท์ภายในประเทศ หรือ ทางไกลต่างประเทศได้จากที่โรงแรม, โทรศัพท์สาธารณะ และโทรศัพท์มือถือ เพื่อความคล่องตัวเวลาโทร ควรหาข้อมูลเลขหมายก่อนออกเดินทาง




 

โทรทางไกลต่างประเทศ

จะโทรสายตรงไปยังต่างประเทศ หรือ ใช้บริการของบริษัทผู้ให้บริการโทรทางไกลต่างประเทศก็ได้ ถ้าโทรจากโทรศัพท์ของโรงแรม อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม

โทรสายตรง

โทรทางไกลต่างประเทศจากญี่ปุ่น
"หมายเลขระบุการโทรทางไกลต่างประเทศ" + "010" + "รหัสประเทศ" + "หมายเลขโทรศัพท์ที่ต้องการโทร" 

"รหัสประเทศ" ของประเทศต่างๆ

"หมายเลขระบุการโทรทางไกลต่างประเทศ"
00: จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน กรีซ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์
001: เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไทย สิงคโปร์

002: ไต้หวัน 
011: อเมริกา แคนาดา
0011: ออสเตรเลีย


โทรจากต่างประเทศมาญี่ปุ่น

"หมายเลขระบุการโทรทางไกลต่างประเทศ" + "81" + "หมายเลขโทรศัพท์ในประเทศญี่ปุ่น ที่ตัดเลข 0 ตัวแรกออก"

โทรศัพท์มือถือ

สามารถโทรจากโทรศัพท์มือถือที่รองรับบริการโรมมิ่ง หรือ จะเช่าที่สนามบินก็ได้ แต่ค่าโทรค่อนข้างแพง จึงควรหาข้อมูลและเงื่อนไขในการใช้ล่วงหน้า และขอแนะนำให้ใช้แพ็กเกจแบบกำหนดลิมิตจำนวนเงิน เนื่องจากในการใช้สมาร์ทโฟน เพียงแค่เปิดเครื่องเอาไว้เฉยๆ ก็จะมีการรับส่งข้อมูลเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้องเสียค่าบริการราคาแพง

โทรศัพท์สาธารณะ

คุณสามารถใช้โทรศัพท์สาธารณะโดยใช้เหรียญ 10 เยน, 100 เยน หรือ บัตรโทรศัพท์ โดยมีวิธีใช้คือ ยกหูโทรศัพท์ หยอดเหรียญหรือสอดบัตร แล้วกดหมายเลข หากต้องการโทรทางไกลระหว่างประเทศ คุณสามารถต่อสายตรงไปต่างประเทศได้จากโทรศัพท์สาธารณะสีเทาที่เขียนเอาไว้ว่า "International & Domestic Card/ Coin Telephone"  โทรได้ตั้งแต่ 100 เยน เป็นต้นไป หรือจะใช้บัตรโทรศัพท์แบบจ่ายเงินล่วงหน้า (Pre-paid) ที่จำหน่ายโดยบริษัทผู้ให้บริการต่างๆ ก็ได้ คุณสามารถใช้บัตร Pre-paid ที่มีจำหน่ายตามร้านค้าในสถานี และอื่นๆ โทรจากโทรศัพท์สาธารณะไปยังปลายทาง ทั้งในและต่างประเทศ ขอให้ดูวิธีใช้จากเอกสารรายละเอียดที่ได้รับมาตอนซื้อ
เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ สามารถใช้โทรศัพท์สาธารณะได้ฟรี (แต่ไม่สามารถโทรทางไกลต่างประเทศได้)

โทรศัพท์ภายในประเทศ

การโทรภายในประเทศญี่ปุ่น ถ้าเป็นหมายเลขโทรศัพท์บ้านจะเป็นตัวเลข 10 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0  ถ้าเป็นโทรศัพท์มือถือจะเป็นตัวเลข 11 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0

บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 06/01/2016