tr?id=1543387775907290&ev=PageView&noscript=1

มาแล้วไม่ได้ดูเสียใจแย่! 10 เทศกาลฤดูร้อนในญี่ปุ่น

บทความ

 

มาแล้วไม่ได้ดูเสียใจแย่!
10 เทศกาลฤดูร้อนในญี่ปุ่น

 

 
 
ฤดูใบไม้ผลิมีซากุระ ฤดูใบไม้ร่วงมีใบไม้เปลี่ยนสี ฤดูหนาวมีหิมะ แล้วฤดูร้อนที่ญี่ปุ่นมีอะไรอ่ะ? อ๋อ...มี "มัตสึริ" ที่แปลว่า "งานเทศกาล" นั่นเอง! งานที่ญี่ปุ่นเขาจัดกันยิ่งใหญ่มากๆนะ ใครกำลังจะมาเที่ยวก็วางแผนให้ได้ให้โดนวันจัดงานกันดูนะจ๊ะ
 

กิอง มัตสึริ (เกียวโต)

กิอง มัตสึริ (Gion Matsuri)1

1 ใน 3 งานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น "กิอง มัตสึริ" ซึ่งจะจัดขึ้นตลอดเดือนกรกฎาคมของทุกปี โดยมีงานใหญ่เกือบทุกวันกันเลย

ไฮไลท์ของงานอยู่ที่พาเหรดที่มีชื่อว่า "ยามะโบโกะ จุนโกะ" ในพาเหรดจะมีเกี้ยวใหญ่มวาก 2 แบบ ชื่อ ยามะ และ โฮโกะ (เอามารวมกันเลยเรียก ยามะโบโกะ) ถูกลากไปตามถนนทั่วเมือง โดยพาเหรดจะจัดกัน 2 วัน ครั้งแรกในวันที่ 17 กรกฎาคม งานของวันนี้จะอลังการมาก มีเกี้ยวทั้งยามะและโฮโกะรวม 23 คัน ส่วนอีกวันคือ 24 กรกฎาคม ที่งานจะเล็กลงมาหน่อยมีเกี้ยว 10 คัน
 
กิอง มัตสึริ (Gion Matsuri)2

งานกลางคืนก็แจ่มค่ะคุณผู้ชม โดยเฉพาะงาน "โยอิยามะ" ที่จะมีเกี้ยวห้อยโคมไฟใหญ่โตให้ได้ดูกัน งานนี้จัดคืนวันที่ 14 และ 16 กรกฎาคม แต่ขอกระซิบบอกนิดนึงว่า งานวันแรกจะไฮโซกว่าจ้า

รายละเอียด 

กิอง มัตสึริ (Gion Matsuri)
ระยะเวลาจัดงาน: 1 - 31 กรกฎาคม

ยามะโบโกะ จุนโกะ (Yamaboko Junko) วันแรก: 17 ก.ค. 2559
สถานที่: สี่แยก Shijo และถนน Karasuma 
เวลา: 9.00 - 11.00 น.
แผนที่เคลื่อนขบวนเกี้ยว

ยามะโบโกะ จุนโกะ (Yamaboko Junko) วันที่ 2 : 24 ก.ค. 2559
สถานที่: สี่แยก Shijo และถนน Karasuma 
เวลา: 9.30 - 11.20 น.
แผนที่เคลื่อนขบวนเกี้ยว

รายละเอียดเพิ่มเติม: เว็บไซต์

 

เทนจิน มัตสึริ (โอซาก้า)

เทนจิน มัตสึริ (Tenjin Matsuri)1

"เทนจิน มัตสึริ" เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองเทพแห่งการเรียนรู้ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าโอซาก้า เท็นมังกู โดยงานนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 24 - 25 กรกฎาคมของทุกปี ภายในงานก็จะมีการเชิดสิงโต และระบำร่ม
 
เทนจิน มัตสึริ (Tenjin Matsuri)2

ในวันที่ 25 เขาจะแห่เกี้ยว หรือ มิสึโคชิ ไปตามถนนอีกด้วย
 
เทนจิน มัตสึริ (Tenjin Matsuri)3

เย็นของวันที่ 25 กรกฎาคม เกี้ยวมิสึโคชิจะถูกแห่ลงเรือร่องไปตามแม่น้ำ ท่ามกลางพลุไฟที่จะจุดขึ้นอย่างสวยงาม

รายละเอียด 

เทนจิน มัตสึริ (Tenjin Matsuri)
ระยะเวลาจัดงาน: 24 - 25 ก.ค. 2559
เวลา: 4.00 - 19.00 น. และ 13.30 - 22.30 น. (ตามลำดับ)
รายละเอียด: คลิ๊กที่นี่

ศาลเจ้าโอซาก้า เท็นมังกู
รายละเอียด: คลิ๊กที่นี่

 

งานพลุดอกไม้ไฟแม่น้ำสุมิดะ (โตเกียว) 

เทศกาลพลุดอกไม้ไฟแม่น้ำสุมิดะ (Sumida River Fireworks Festival)1

"งานพลุดอกไม้ไฟแม่น้ำสุมิดะ" หรือ สุมิดะคาวะ ฮานาบิไดไก จัดขึ้นมาตั้งแต่ค.ศ. 1733 ถือเป็นเทศกาลดอกไม้ไฟที่ยิ่งใหญ่และฮอตฮิตที่สุดในโตเกียวช่วงหน้าร้อนเลย
 
เทศกาลพลุดอกไม้ไฟแม่น้ำสุมิดะ (Sumida River Fireworks Festival)2

โดยแบ่งจัดเป็น 2 บริเวณ รวมพลุกว่า 20,000 ลูก และรุปทรงแปลกใหม่ถึง 200 แบบเลย ใครไปก็อย่าลืมแวะชิมอาหารที่ยะไต หรือร้านค้าริมทางกันด้วยนะ

รายละเอียด 

เทศกาลพลุดอกไม้ไฟแม่น้ำสุมิดะ (Sumida River Fireworks Festival)
ระยะเวลาจัดงาน: 30 ก.ค. 2559
เวลา: 19.05 - 21.30 น.
สถานที่:
บริเวณ 1 ใกล้สถานี Oshiage และ Kuramae
บริเวณ 2 ใกล้สถานี Ryogoku
※สถานี Asakusa และ Honjo-Azumabashi อยู่ระหว่างบริเวณจัดงานทั้งสองแห่ง
รายละเอียดเพิ่มเติม: เว็บไซต์

 

อาโอโมริ เนบุตะ มัตสึริ (อาโอโมริ)

อาโอโมริ เนบุตะ มัตสึริ (Aomori Nebuta Matsuri)1

"เนบุตะ มัตสึริ" เป็นเทศกาลที่สว่างสดใสไปด้วยเกี้ยวโคมไฟใหญ่ยักษ์หนัก 4 ตัน! ที่ใช้เวลาเกือบทั้งปีในการสร้างเลยล่ะ โดยโคมไฟมักถูกออกแบบเป็นฉากในตำนาน, ซามูไร, หรือละครคาบุกิ
 
อาโอโมริ เนบุตะ มัตสึริ (Aomori Nebuta Matsuri)2

นอกจากแห่เกี้ยวแล้ว ยังมีการเต้นรำอย่างสนุกสนานที่เรียกว่า "ฮาเนโตะ" ด้วย งานนี้มีผู้มาเข้าชมกว่า 3 ล้านคน!ทุกปีทีเดียว นับเป็น 1 ใน 3 ของงานเทศกาลใหญ่ประจำภูมิภาคโทโฮคุเลยจ้า

รายละเอียด

อาโอโมริ เนบุตะ มัตสึริ (Aomori Nebuta Matsuri)
ระยะเวลาจัดงาน: 2 - 7 ส.ค. 2559
เวลา: 19.10 - 21.00 น.
※วันที่ 7 จัดงาน 13.00 - 15.00 น. หลัวจากนั้นจะมีการนำเกี้ยวเนบุตะไปลองน้ำในเวลา 19.15 - 21.00 น.
สถานที่: ใจกลางเมืองอาโอโมริ สถานี JR Aomori
รายละเอียดเพิ่มเติม:เว็บไซต์

 

อาคิตะ คันโต มัตสึริ (อาคิตะ)

อาคิตะ คันโต มัตสึริ (Akita Kanto Matsuri)1

"คันโต มัตสึริ" เป็นอีกงานใหญ่ 1 ใน 3 ของงานเทศกาลภูมิภาคโทโฮคุ เป็นงานเทศกาลขับไล่โรคภัยไข้เจ็บและสิ่งไม่ดีออกไปในช่วงกลางหน้าร้อนนี้
 
อาคิตะ คันโต มัตสึริ (Akita Kanto Matsuri)2

ไฮไลท์ของงานก็คือ "คันโต" หรือแผงไม้ไผ่ที่ประดับโคมไฟกว่า 46 ลูก โดยโคมไฟแต่ละลูกนี่มีขนาดเท่าเด็กเล็กๆคนนึงเลยนะ! ไม้ไผ่แต่ละอันเนี่ยก็มีความสูง 12 ม. หนักกว่า 50 กก. และผู้จัดก็จะแบกมันด้วยมือเอย ไหล่เอย สะโพกเอย รวมถึงหน้าผากด้วย!
 
อาคิตะ คันโต มัตสึริ (Akita Kanto Matsuri)3


ภายในงานก็จะมีคันโตใหญ่ๆให้ดูกันกว่า 270 แผงเลยนะ

รายละเอียด

อาคิตะ คันโต มัตสึริ (Akita Kanto Matsuri)
ระยะเวลาจัดงาน (งานกลางคืน): 3 - 6 ส.ค. 2559
เวลา: 18.15 - 21.30 น.
สถานที่: บริเวณ 2-Chome Bashi ไปยังถนน Sanno Jujiro สถานี JR Akita

ระยะเวลาจัดงาน (งานกลางวัน): 4 - 6 ส.ค. 2559
เวลา: 9.20 - 15.20 น.
สถานที่: บริเวณลานกว้าง Nakaichi และ Nigiwai สถานี JR Akita

 

เซนได ทานาบาตะ มัตสึริ (มิยางิ)

เซนได ทานาบาตะ มัตสึริ (Sendai Tanabata Matsuri)1

"ทานาบาตะ มัตสึริ" นับเป็นงานเทศกาลที่ฉลองให้กับการกลับมาเจอกันในทุกๆปีของคู่รักที่อยู่คนละฝั่งของทางช้างเผือก ถึงแม้งานทานาบาตะจะถูกจัดทั่วญี่ปุ่นก็ตาม แต่ที่เมืองเซนได ในจังหวัดมิยางิ เขาจัดงานได้อย่างอลังการดาวล้านดวง ใช่แล้วค่ะ...มันคืองาน 1 ใน 3 เทศกาลใหญ่ประจำภูมิภาคโทโฮคุนั่นเอง
 
เซนได ทานาบาตะ มัตสึริ (Sendai Tanabata Matsuri)2

โดยแต่ละปีก็จะมีผู้มาเที่ยวงานนี้กว่า 2 ล้านคนเลยนะ! ตลอดถนนย่านการค้า ยาวไปยังใจกลางเมือง จะเต็มไปด้วย "ฟุคินากาชิ" หรือ โคมกระดาษสีสวยที่ปลายหางจะติดด้วยโอริกามิ ประดับประดางามตาแต้ๆ นอกจากนี้ ผู้คนยังนิยมเขียนคำขอต่างๆห้อยตามไม้ไผ่ด้วยล่ะจ้า

รายละเอียด

เซนได ทานาบาตะ มัตสึริ (Sendai Tanabata Matsuri)
ระยะเวลาจัดงาน: 6 - 8 ส.ค. 2559
เวลา: 10.00 - 22.00 น. โดยประมาณ (8 ส.ค. จัดถึง 21.00 น. โดยประมาณ)
สถานที่: ใกล้ทางออกฝั่งตะวันตก สถานี JR Sendai
รายละเอียด: เว็บไซต์

 

โยซาโคย มัตสึริ (โคจิ)

โยซาโคย มัตสึริ (Yosakoi Matsuri)1

ถึงแม้ว่า "โยซาโคย มัตสึริ" จะมีอยู่ทั่วญี่ปุ่น แต่ต้นตำหรับของจริงต้องที่โคจิ จังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะชิโกกุ งานนี้มีดีตรงที่นักเต้นกว่า 200 คน จะถือเครื่องเคาะ "นารุโกะ" พร้อมร้องเพลงไปด้วย  และจะแบ่งกันออกเป็นทีม โดยแต่ละทีมก็จะแต่งชุด และออกแบบท่าเต้นที่แตกต่างกันออกไป
 
โยซาโคย มัตสึริ (Yosakoi Matsuri)2

บางทีมมาแนวร็อคก็มี นึกว่าดู Thailand's Got Talent กลายๆเลย ฮา... 

รายละเอียด

โยซาโคย มัตสึริ (Yosakoi Matsuri)
ระยะเวลาจัดงาน: 9 - 11 ส.ค. 2559
เวลา: 16.30 น. เป็นต้นไป (10 - 11 ส.ค. เริ่ม 11.00 น.)
สถานที่: บริเวณสถานี JR Kochi

 

โทคุชิมะ อาวะโอโดริ (โทคุชิมะ)

โทคุชิมะ อาวะโอโดริ (Tokushima Awa Odori)1

ในทุกๆปี  นักเต้นระบำมากกว่า 950 กลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มขนาดเล็ก 50 คนไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่ 200 คน! จะออกมาเต้นรำไปตามถนนใจกลางเมืองโทคุชิมะ ซึ่งเทศกาลนี้รู้จักกันในชื่อ "อาวะโอโดริ" ... นักเต้นครองเมืองค่ะงานนี้ สไตล์การเต้นทั่วไปแล้วแบ่งออกเป็นชายและหญิง แต่ยังคงซึ่งเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างดี นอกจากนั้นยังมีดนตรีประกอบจากเครื่องสายซามิเซน, ฟลุ๊ต, ระฆัง,​ และกลองหลายชนิด
 
โทคุชิมะ อาวะโอโดริ (Tokushima Awa Odori)2

เล่ากันว่า อาวะโอโดริ เกิดจากท่าเต้นตอนเมาในปาร์ตี้ฉลองการเปิดตัวปราสาทโทคุชิมะ ในสมัยเอโดะ และเพราะท่าเต้นที่ดูบ้านิดๆ ท่ามกลางเสียงเพลงที่ไม่ค่อยจะมีแพทเทิลเท่าไหร่ ทำให้เรียกกันว่า "การเต้นรำของคนบ้า"
 
โทคุชิมะ อาวะโอโดริ (Tokushima Awa Odori)3

แต่ถึงจะยังงั้น การแสดงที่เห็นอยู่นี้ โดยเฉพาะทีมที่ได้รับความนิยม ใช้พลังกายและความทุ่มเทในการซ้อมเป็นอย่างมาก

รายละเอียด

โทคุชิมะ อาวะโอโดริ (Tokushima Awa Odori)
ระยะเวลาจัดงาน: 12 - 15 ส.ค. 2559
เวลา: 11.00 น. เป็นต้นไป
สถานที่: บริเวณเวที และถนนหน้าสถานี JR Tokushima
※จำเป็นต้องซื้อบัตรสำหรับชมการแสดงบางอย่าง รวมถึงการแสดงฟินาเล่ด้วย บัตรเริ่มขายในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ร้านสะดวกซื้อ (ภาษาญี่ปุ่น) หรือศูนย์ประชาสัมพันธ์ Awa Odori Information Center หน้าสถานี JR Tokushima จ้า

 

โอวาระ คาเซะ โนะ บง (โทยามะ)

โอวาระ คาเซะ โนะ บง (Owara Kaze no Bon)1

"โอวาระ คาเซะ โนะ บง" เทศกาลที่มีส่วนทั้งคล้ายและต่างจาก "อาวะโอโดริ" ที่จังหวัดโทคุชิมะ ที่คล้ายคือ จัดในช่วงโอบ้ง หรือที่ไทยเราเรียก เชงเม้ง นั่นเอง แต่ส่วนที่ต่างก็คือ เทศกาลนี้จะไม่ครื้นเครงเท่า ออกจะมาแนวเรียบหรูดูสง่า โดยจะใช้มือและชายแขนเสื้อสื่ออารมณ์ ในบรรยากาศของดนตรีแสนเศร้าโศก
 
โอวาระ คาเซะ โนะ บง (Owara Kaze no Bon)2

ว่ากันว่าเทศกาลสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ที่จัดงานกันสามวันสามคืน เพื่อฉลองให้กับการกลับคืนมาของเอกสารสำคัญที่ได้หายไประหว่างนอกเมือง
 
โอวาระ คาเซะ โนะ บง (Owara Kaze no Bon)3

ถึงแม้เทศกาลนี้จะยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ความสวยงามที่ไม่เหมือนใคร ได้เรียกนักท่องเที่ยวกว่า 200,000 คน ให้มาเยือนเมืองแห่งนี้ทุกปี

รายละเอียด 

โอวาระ คาเซะ โนะ บง (Owara Kaze no Bon)
ระยะเวลาจัดงาน: 1 - 3 ก.ย. 2559
เวลา: 15.00 - 17.00 น. และ 19.00 - 23.00 น.
※วันที่ 3 ก.ย. เวลา 19.00 - 23.00 น.
สถานที่: ทั่วทั้งบริเวณยาสุโอะ เมืองโทยามะ สถานี JR Etchu-Yatsuo
รายละเอียดเพิ่มเติม: เว็บไซต์

 

คิชิวาดะ ดันจิริ มัตสึริ (โอซาก้า)

คิชิวาดะ ดันจิริ มัตสึริ (Kishiwada Danjiri Matsuri)1

งานเทศกาลที่ใช้รถลากไม้จะเรียกกันว่า "ดันจิริ" แต่ที่นิยมที่สุดเห็นจะเป็น "คิชิวาดะ ดันจิริ มัตสึริ" ในโอซาก้าล่ะจ้า เขาบอกว่าจุดเริ่มของเทศกาลเพราะอยากจะเสริมโชคให้เกษตรกรรมมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบัน จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในเมือง โดยงานนี้เขาจะจัดกัน 2 ครั้งในเดือนกันยายน และตุลาคม
 
คิชิวาดะ ดันจิริ มัตสึริ (Kishiwada Danjiri Matsuri)2

ในเทศกาลเราจะสามารถส่องหนุ่มๆ เอ้ยไม่ใช่ ... จะมีหนุ่มๆมาออกแรงลากรถกันแบบเร็วสุดเหวี่ยง ราวกับดูหนัง Fast and Furious เลยค่า แถมบนรถก็จะมีนักดนตรีเล่นเพลงไป ด้านบนมีคนเต้นโชว์ซะด้วย ... ตื่นเต้นมากๆ โดยเฉพาะเวลารถต้องเข้าเลี้ยวนะ คนดูแทบกลั้นหายใจกันเลย ด้วยเพราะงานออกจะฟัดเหวี่ยงไปนิด ใครที่เดินทางไปชมก็ควรปฏิบัติตามวิธีการ เพื่อหาจุดชมเทศกาลได้อย่างปลอดภัยกันนะ
 
คิชิวาดะ ดันจิริ มัตสึริ (Kishiwada Danjiri Matsuri)3

นอกจากรถลากที่จัดในช่วงเช้าตรู่แล้ว ยังมีพาเหรดตามช่วงเวลาตลอดวัน ส่วนตอนเย็นก็จะมีพาเหรดรถลากไม้ประดับโคมไฟไปรอบเมืองอีกด้้วย

รายละเอียด

คิชิวาดะ ดันจิริ มัตสึริ (Kishiwada Danjiri Matsuri)
ระยะเวลาจัดงาน (ครั้งแรก): 17 - 18 ก.ย. 2559
เวลา: 6.00 - 22.00 น. และ 9.00 - 22.00 น. (ตามลำดับ)

ระยะเวลาจัดงาน (ครั้งที่ 2): 8 - 9 ต.ค. 2559
เวลา: 6.00 - 22.00 น. และ 9.00 - 22.00 น. (ตามลำดับ)

※รถลากในวันที่แรกของงานจัดช่วงเวลา 6.00 - 7.30 น.
สถานที่: บริเวณสถานี Kishiwada
รายละเอียด: แผนที่จัดงาน

 

รู้นะ อยากไปใช่ป่าว?

แค่เห็นรูปก็น่าไปมากเลยเนอะ หรือ ใครเคยได้ไปมาแล้วบ้าง? ไปงานเทศกาลไหนกันนมาคะ? มาเล่าเม้ามอยให้ฟังกันบ้างนะ

※วันงานที่ระบุในบทความนี้ อ้างอิงจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของเทศกาลต่างๆในเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งระยะเวลาจัดงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กรุณาตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการอีกครั้งก่อนเดินทาง

 

ถ้าชอบบทความนี้ กดถูกใจให้ด้วยนะ

บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อ 08/07/2016 เรื่องโดย:Farng

 

ความคิดเห็นล่าสุด | 0ความคิดเห็น

    • ยังไม่มีความคิดเห็น
  • หากเป็นสมาชิก DiGJAPAN!
    จะสามารถโพสต์คอมเม้นท์ได้

    สมัครสมาชิก